การจัดการกับภาวะวิกฤติ (Crisis Management)
ภาวะวิกฤติ คือ สภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่เป็นปกติทั่วไป และสถานการณ์วิกฤติจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าองค์กรจะมีความพร้อมในการรับมือและจัดการกับวิกฤติให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไรโดยไม่เกิดความวุ่นวายหรือเกิดผลเสียหายต่อองค์กร
คำแนะนำในการจัดการกับภาวะวิกฤติ คือ เตรียมแผนฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีการประกาศอย่างทันทีและชัดเจน เมื่อจะต้องดำเนินการตัดสินใจ ไม่เพียงแค่พิจารณาแต่การสูญเสียในระยะสั้น แต่มุ่งเน้นไปยังผลกระทบในระยะยาวด้วย
การจัดการกับภาวะวิกฤติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การลดขนาดภาวะวิกฤติ ขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการภาวะวิกฤติ การคาดการณ์ภาวะวิกฤติที่น่าจะเกิดขึ้นและการจัดเตรียมขั้นตอนวิธีการในการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะวิกฤตินั้น โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนจากภายในองค์กร รวมทั้งโอกาสและอุปสรรคซึ่งส่งผลกระทบจากภายนอก นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงองค์ประกอบ ในเรื่องโปรแกรมการจัดการและควบคุมภาวะวิกฤติที่มีอยู่แล้ว ความเสี่ยงภายในองค์กร เช่น โครสร้างองค์กร นโยบาย และขั้นตอนในการทำงาน ภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นทางด้านสังคมและการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและ สิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ที่มีต่อสื่อมวลชน สาธารณชนและบริการฉุกเฉิน
2. การเตรียมความพร้อม องค์กรควรมีการประเมินภาวะวิกฤติ การพัฒนากลยุทธ์เทคนิค และแผนการสื่อสาร ตลอดจน มาตรการตรวจสอบ ซักซ้อมแผนดังกล่าวและเรียนรู้ทักษะในการจัดการภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรควรมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่อผลกระทบของภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น สายการบังคับบัญชาภายในองค์กรจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการภาวะวิกฤติ และส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ซึ่ง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การที่ผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบโดยตรงต่อการจัดการภาวะวิกฤติ การเตรียมตารางเวลาเพื่อรายงานผลการจัดการภาวะวิกฤติ และเสนอวิธีการจัดการภาวะวิกฤติให้พนักงานทุกคนในองค์กรทราบ นอกจากนี้ควรให้การจัดการภาวะวิกฤติเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการจัดทำแผนกลยุทธ์โดยรวมขององค์กรและสื่อสารวิธีการและขั้นตอนการจัดการ ภาวะวิกฤติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
3. การตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นท่ามกลางความยุ่งเหยิงของเหตุการณ์องค์กรจะสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้รวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของขั้นตอนการ ลดขนาดภาวะวิกฤติ และการเตรียมความพร้อม ซึ่งในขั้นตอนนี้จะให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันดับแรก และในขั้นตอนนี้เอง การสื่อสารจะถูกดำเนินการตามแผนที่เตรียมไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนโดยทั่วไป การดำเนินการจัดการภาวะวิกฤติ จะต้องมีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ และต้องการทักษะ บางประการของผู้บริการ เช่น ผู้บริหารที่รับผิดชอบในการจัดการภาวะวิกฤติ จะต้องมีอำนาจตามแผนที่กำหนดขึ้น โดยจะสามารถสั่งการและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่ผู้อื่นในช่วงเวลา ดังกล่าวโดยไม่ต้องกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมา นอกจากนี้ในแผนจัดการภาวะวิกฤติ จะต้องมีนักประชาสัมพันธ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประสานงานกับสื่อมวลชน รวมถึงสามารถจัดทำโครงการรณรงค์ในฐานะตัวแทนขององค์กร เนื่องจากความรับรู้ของสาธารณชนต่อการ เปิดเผยเรื่องภาวะวิกฤติขององค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญและถือเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการดำเนินการตามแผนดังกล่าว
4. การฟื้นฟูภายหลังภาวะวิกฤติ ภาวะวิกฤติจะเพิ่มระดับการเผยแพร่ข่าวสารขององค์กรหรือสถานที่ท่องเที่ยวผ่านสื่อมวลชน ในกรณีที่มีการแก้ไขภาวะวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการสร้างความมั่นใจถึงการฟื้นตัวของการดำเนินการขององค์กรตามปกติในระยะสั้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป กุญแจสำคัญในการฟื้นตัวขององค์กร ภายหลังภาวะวิกฤติคือความร่วมมือในการทำงานและการประสานงานระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ประสิทธิภาพของแผนการจัดการวิกฤติการณสามารถวัดได้จากระยะเวลาที่องค์กรสามารถ ดำเนินการตามปกติภายหลังวิกฤติระดับการดำเนินการขององค์กรเทียบกับช่วงเกิดเกิดวิกฤติ และจำนวนเงินที่ใช้สำหรับจัดการกับวิกฤติการณ์นับแต่เริ่มดำเนินการ