จัดการขยะเดลิเวอรี่ในออฟฟิศแบบ New Normal
ถ้าพูดถึงขยะที่เกิดขึ้นมากในช่วง COVID-19 หลายคนอาจจะนึกถึงหน้ากากอนามัย แต่จริง ๆ แล้วตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุการณ์ COVID-19 ไปจนถึงการล็อคดาวน์เมือง ขยะเดลิเวอรี่อันเกิดจากการบริการอาหารแบบส่งถึงที่ (Food delivery) นั้นกลับขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเรามีอันต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่บ้างไม่มากก็น้อย ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 สาวหรือหนุ่มออฟฟิศที่ไม่อยากตากแดดออกไปซื้ออาหารกลางวันรับประทานหรือติดพันงานจนไม่สามารถลุกออกจากโต๊ะทำงานไปได้สะดวกนัก ก็ต้องเคยพึ่งบริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ให้มาส่งถึงที่โต๊ะทำงาน
จนช่วง COVID - 19 ระบาดหนัก จนมีมาตรการล็อคดาวน์ขอให้ประชาชน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ประชาชนชาวออฟฟิศอย่างเรา ๆ ก็ต้องผันตัวเองมาทำงานอยู่บ้านด้วยเช่นกัน เมื่อออกจากบ้านไม่ได้ คราวนี้ไม่ใช่แค่อาหารกล่องเดลิเวอร์รี่ แต่ยังมีเสื้อผ้าเดลิเวอรี่ ครีมเดลิเวอรี่ ผลไม้เดลิเวอรี่ ไปจนถึงสะตอดองเดลิเวอรี่ก็มีมาส่งถึงบ้านแล้ว คาดว่าหลังสถานการณ์ COVID - 19 คลี่คลาย กองทัพเดลิเวอรี่เหล่านี้ก็ยังไม่น่าจะหายไปไหน อาจไม่ถึงกับเป็น New Normal แต่พฤติกรรมการซื้อของของเราอาจเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
ทว่า... ไม่ใช่แค่อาหารหรือสินค้าที่เราต้องการแค่นั้น ไม่ว่าจะเป็น Lineman, Grab food, Food Panda, Get พวกเขาเหล่านี้จะส่งอาหารพร้อมขยะมาออฟฟิศเราแบบเดลิเวอรี่ด้วย
"วันหนึ่งเราสร้างขยะเดลิเวอรี่ในออฟฟิศมากแค่ไหน?"
ลองนึกดูว่าหลังจากทานอาหารหมดแล้ว เราเหลือขยะไว้ดูต่างหน้ากี่ชิ้น
กล่อง แก้ว ขวดพลาสติก
ช้อน ส้อม หลอด
กระดาษทิชชู
ถุงพลาสติก
ใบเสร็จค่าอาหาร
แล้วของดูต่างหน้าพวกนี้หายไปไหน?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ในปี 2562 มีขยะที่เกิดจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มากถึง 560 ล้านชิ้น กล่าวคือ 1 ออเดอร์จะสร้างขยะอย่างน้อย 4 ชิ้น แน่นอนว่าในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะมีขยะเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เท่าตัว หรือกว่าพันล้านชิ้นเลยทีเดียว!
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่เหลือทิ้งไว้ให้แก่โลกของเราอย่างแท้จริงก็ได้ เพราะในกรณีที่ไม่มีการจัดการอย่างถูกต้องพลาสติก 1 ชิ้นจะอยู่คู่โลกเราไปอีกนานถึง 450 ปี (ขนาดยังไม่นับขยะของเก่าที่ช่วงชีวิตสั้นกว่าแต่ยังเหลือตกค้างอยู่)
"ขยะรีไซเคิลที่รีไซเคิลไม่ได้"
เคยมีใครเปิดถังขยะในออฟฟิศแล้วพิจารณานานกว่า 3 วินาทีไหมคะ?
เปิด 2 ทิ้ง 3 ปิด (3 วินาที) ชาวออฟฟิศอย่างเรา ส่วนใหญ่คงกำจัดขยะเดลิเวอรี่ด้วยการทิ้งทุกอย่างรวมกันในถังขยะแบบไม่มีการคัดแยก หรืออย่างดีที่สุดก็อาจแยกขวดน้ำไว้ให้คุณป้าแม่บ้านได้เก็บไว้ไปขาย แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากขวดพลาสติกแล้วขยะประเภทอื่นก็สามารถเกิดใหม่ได้เช่นกัน
กล่อง ช้อนส้อม หลอดสามารถนำไป Recycle หรือ Upcycle กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ แต่ถ้าโชคร้ายพลาสติกที่เอามาทำกล่อง ช้อนส้อม หลอดเหล่านั้นไม่สามารถ Recycle ได้ ก็ยังเอาไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในเตาผลิตปูนซิเมนต์ได้ แม้แต่ใบเสร็จค่าอาหารก็สามารถนำไปทำสมุดเล่มใหม่มาใช้ได้อีก เศษอาหารก็ Upcycle เป็นปุ๋ยหมักชั้นดีได้เช่นกัน เชื่อไหมคะว่า ขยะพวกนี้ถ้าทิ้งให้เหมาะสมจะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้เลยทีเดียว
แต่ถ้าเราทิ้งทุกอย่างรวมกันจนปนเปื้อนกันไปหมด ขยะ Recycle จะ Recycle ไม่ได้ทันที (ยกเว้นถ้าคุณจะเอามาล้างแยกทุกอย่างใหม่ ซึ่งเป็นงานที่หนักกว่ามาก เพราะกระบวนการ Recycle กับ Upcycle ขยะนั้น ต้องมีการทำความสะอาดขยะก่อน ถ้าขยะทุกอย่างไปกองรวมกับเศษอาหารในถังจนเปรอะเปื้อนไปหมดแล้ว ถ้าไม่ล้วงขึ้นมาล้าง ขยะก็จะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปจริงๆ
ภาพจำของถังขยะในประเทศเราคือ ถังที่เต็มไปด้วยขยะปนเปื้อนรวมกัน ทั้งเศษอาหาร ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ใบเสร็จ แก้วน้ำ กระป๋องน้ำอัดลม ฯลฯ ถังขยะในออฟฟิศของคุณก็เป็นแบบนี้หรือเปล่าคะ
"คิดก่อนกด เลือกก่อนสั่ง ระวังก่อนทิ้ง"
ถ้าคุณเป็น 1 ในผู้สร้างขยะพันล้านชิ้นเหล่านั้น ชาวออฟฟิศที่อยากช่วยลดขยะเดลิเวอรี่ ลดภาระคุณแม่บ้าน ลดภาระโลก มีหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ไม่ยาก ไม่เสียเวลางาน เวลากดสั่งของของเราสักเท่าไร ลองทำตามนี้ดูค่ะ
คิดก่อนกด...
หลาย ๆ แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารจะมีช่องทางให้ส่งข้อความถึงร้านหรือพนักงานส่งได้ นอกจากจะร้องขอเรื่องรสชาติ ระดับความแซ่บ ไม่งอก ไม่เอาเครื่องใน ไม่ใส่กากหมูแล้ว เรายังระบุไม่รับช้อนส้อม เครื่องปรุง หลอด หรือกระดาษทิชชู่ก็ได้ด้วย ถ้าเราทานอาหารที่บ้านหรือออฟฟิศที่มีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว หรือคุณเป็นคนไม่ใส่เครื่องปรุงรสเพิ่ม อย่าลืมกระซิบบอกร้านหรือพนักงานส่งก่อนสั่งและจ่ายเงินดูนะคะ จากขยะ 4 ชิ้นต่อออเดอร์จะลดเหลือ 2 หรือ 1 ได้ไม่ยาก
เลือกก่อนสั่ง...
นอกจากแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารทั่วไปแล้ว ยังมีบางแอพพลิเคชั่นที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการสั่งอาหารมาส่งแบบ Zero Waste ที่มีหลักการว่าธุรกิจเดลิเวอรี่ก็ไม่ต้องสร้างขยะได้ด้วยการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำ อย่างเช่นในอเมริกา DeliverZero สตาร์ทอัพที่ให้บริการ Food Delivery แบบไร้ขยะ โดยการบรรจุอาหารในภาชนะที่ทำจากโพลีโพพีลีนจึงทำให้สามารถนำมาใช้ซ้ำในการส่งอาหารได้มากกว่า 1,000 ครั้ง หรือหากลูกค้าไม่ได้ส่งภาชนะคืนก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้อีกหลายปี โดย DeliverZero จะให้ลูกค้าฝากเงินมัดจำไว้ในแอพ 2 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ สำหรับเป็นค่าภาชนะดังกล่าว และจะต้องส่งคืนภายใน 6 สัปดาห์ วิธีการส่งคืนก็ไม่ยาก เพียงแค่ส่งให้พนักงานในการสั่งอาหารครั้งต่อไปหรือนัดเวลารับส่งกล่องอาหารกับพนักงานผ่านแอพ ลูกค้าก็จะได้เงินคืน
ในประเทศไทยก็มีธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน อย่างเช่น Indy Dish ธุรกิจอาหารสุขภาพแบบเดลิเวอรี่ โดยอาจจะแตกต่างจากฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าอื่นที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นของตนเอง ในขณะที่ Indy Dish ให้บริการสั่งอาหารผ่าน LINE Official Account แต่จุดเด่นของ Indy Dish นอกจากจะเน้นการขายอาหารจากร้านอาหารเพื่อสุขภาพแล้วยังมีทางเลือกการส่งอาหารเดลิเวอรี่แบบไม่เพิ่มขยะให้อีกด้วย โดยในปลายปี 2019 Indy Dish ร่วมมือกับ Super Lock ในการส่งอาหารโดยใช้กล่องของ Super Lock มีการมัดจำค่ากล่อง 100 บาท และไปรับกลับคืนหลังรับประทานอาหารหรือในการสั่งครั้งต่อไปภายใน 7 วัน (ขณะนี้ Indy Dish ปิดให้บริการชั่วคราวในช่วง COVID-19)
แม้ว่าจะยุ่งยากสักนิด แต่ถ้ามีโอกาสลองใช้บริการธุรกิจส่งอาหารแบบนี้ดูสักครั้ง เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกที่หลากหลายในการลดภาระเรื่องการจัดการขยะในธุรกิจ Food Delivery ประเทศไทยให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ระวังก่อนทิ้ง...
แต่ถ้าว่าเราได้ขยะเดลิเวอรี่มาแล้วแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ยังไม่สายเกินไป ยังมีวิธีการจัดการขยะเหล่านั้นให้เกิดใหม่ไม่กลายเป็นขยะไร้ค่าด้วยการ
แยก – ล้าง – ส่ง
แยก – แยกประเภทขยะ ถ้าการแยกละเอียดไปจนถึงแต่ละประเภทพลาสติกรีไซเคิลยังยากเกินไป อย่างน้อยที่สุดลองแยกขยะในออฟฟิศให้ได้ 3 ประเภท คือ ขยะเปียก ขวดพลาสติก/กระป๋องอลูมีเนียม และ ขยะทั่วไป
ขยะเปียก คือ อาหารสดที่กินเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกไก่ เปลือกส้ม เม็ดทุเรียน ถั่วงอกที่เขี่ยออก ฯลฯ แยกทิ้งในถังขยะเปียก เพื่อการกำจัดฝังกลบที่ง่ายขึ้น หรือหากในออฟฟิศของเรามีถังหมักปุ๋ยหรือเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารก็จะได้เอาไป Upcycle เป็นปุ๋ยหมักของออฟฟิศเรา ซึ่งถังหมักปุ๋ยจากเศษอาหารสมัยนี้ใช้ง่าย สะอาด และและมีดีไซน์สวยงาม สามารถเอามาตั้งไว้ในออฟฟิศได้อย่างไม่เคอะเขิน
ขวดพลาสติก/กระป๋องอลูมีเนียม สำหรับให้คุณแม่บ้านในออฟฟิศหรือเพื่อนร่วมงานที่อยากมีรายได้พิเศษเก็บไปขาย หรือจะส่งไป Recycle หรือ Reuse ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่มีการปนเปื้อนเศษอาหาร
ขยะทั่วไป ขยะนอกเหนือจากขยะ 2 อย่างข้างต้น เช่น กระดาษทิชชู่ ฟิล์มถนอมอาหาร ถุงพลาสติก กล่องกระดาษ ฯลฯ อันที่จริงแล้วขยะกลุ่มนี้ยังสามารถคัดแยกได้เพื่อ Recycle หรือ Upcycle ได้อีก แต่ในเบื้องต้นเพียงแค่เราคัดแยกขยะเปียกและขวดพลาสติก/กระป๋องอลูมีเนียมออก อย่างน้อยที่สุดก็จะได้คืนชีวิตให้กับขยะบางส่วนได้นำกลับไปหมุนเวียน ส่วนขยะทั่วไปซึ่งเป็นขยะที่จัดการยากมากที่สุดก็จะลดน้อยลงบ้าง
ล้าง – ในกรณีที่ในออฟฟิศมีการแยกขวดพลาสติก/กระป๋องอลูมีเนียมออกจากขยะประเภทอื่น อาจจะไม่จำเป็นต้องล้างทำความสะอาดมากนัก สามารถนำไปขายหรือส่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ สำหรับ Recycle ได้เลย แต่ถ้าหากออฟฟิศเราสามารถแยกประเภทพลาสติกออกจากขยะทั่วไปได้อีก ก็ต้องมีการล้างทำความสะอาดพลาสติกบางประเภทก่อนส่ง Recycle ซึ่งนอกจากจะทำให้กระบวนการจัดการขยะในขั้นต่อไปง่ายขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อการจัดเก็บโดยที่ไม่เน่าเหม็นส่งกลิ่นรบกวนการทำงานหรือเป็นกลายแหล่งอาหารของสัตว์เลี้ยงที่เราไม่ได้เลี้ยงไว้ในออฟฟิศเราอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งการคัดแยกประเภทพลาสติกแล้วล้างทำความสะอาดก็เป็นความท้าทายใหม่ที่น่าลองดูไม่ใช่น้อย
ส่ง – เมื่อคัดแยกขยะทุกประเภทพร้อมแล้ว ก็สามารถส่งไปยังสถานที่รับขยะที่สามารถนำไป Recycle หรือ Upcycle ต่าง ๆ ได้ เช่น บริษัท N15 เทคโนโลยีในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร บริษัทซีโร่ เวสท์ โยโล (งดรับชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19) โครงการวน หรือโครงการ"สมุด Green way"
ช่วงแรกอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกไม่รับช้อนส้อม ถุงน้ำจิ้มในแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร การแยกประเภทขยะ การเทขยะสดลงในเครื่องกำจัดขยะ การล้างและจัดส่ง แต่พอทำบ่อย ๆ จนเป็นความคุ้นชินแบบ New Normal แล้ว เชื่อได้ว่าคุณจะสามารถแยก - ล้าง – ส่งขยะได้ตั้งแต่กวาดตามองอาหารในถุงได้ในแว่บแรก
เพราะสสารใด ๆ ไม่ได้หายไปจากโลกนี้ ทันทีที่หลุดจากมือเรา มันอาจเข้าไปอยู่ในกระเพาะของพะยูน เต่าทะเล หรือโลมาสักตัวในทะเลก็ได้
Source :
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2019). คาดการณ์ ขยะเดลิเวอรี่ 1 ปี มากถึง 560 ล้านชิ้น. Retrieved June 14, 2020, from Thai PBS Web site: https://news.thaipbs.or.th/infographic/253
ratirita. (2020). Food Delivery ไร้ขยะ! DeliverZero เสิร์ฟ “กล่องข้าวสีเขียว” รียูสซ้ำเวลาส่งอาหาร. Retrieved June 14, 2020, from Positioning Web site: https://positioningmag.com/1260823
พิชญา อุทัยเจริญพงษ์. (2020). Indy Delivery. Retrieved June 14, 2020, from The Cloud Web site: https://readthecloud.co/indy-dish