https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
ชีวิตออฟฟิศแบบ New Normal กับมื้ออาหารทางธุรกิจที่หายไป
กลับš


ชีวิตออฟฟิศแบบ New Normal กับมื้ออาหารทางธุรกิจที่หายไป


 เห็นชื่ออบทความแบบนี้ไม่ได้จะมาไขคดีฆาตกรรมในออฟฟิศแต่อย่างใด แต่อยากจะมาชวนให้ผู้อ่านร่วมกันทบทวนดูว่า นอกจากทักษะความสามารถต่าง ๆ มากมายมหาศาลที่ทั้ง HR และคนทำงานต้องพัฒนาเพิ่มสำหรับการทำงานในองค์กร (จะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ก็อีกเรื่อง) มีทักษะอะไรหรืองานอะไรบ้างไหมที่หายไป สำหรับสายกินอย่างดิฉันก็นึกถึงมื้อกลางวันกับลูกค้า เจ้านาย หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน ที่เราเรียกว่า Working Lunch หรือ Business Lunch นี่ล่ะค่ะ

มื้ออาหารทางธุรกิจ (รวมทั้งมื้อกลางวันหรือมื้อเย็นด้วย) มีบทบาทสำคัญในทางธุรกิจของหลายองค์กร ดิวงานจนได้เซ็นสัญญาหลายล้านส่วนหนึ่งก็สำเร็จกันบนโต๊ะอาหาร พลาดสัญญาหลายล้านบางส่วนก็มีสาเหตุมาจากบนโต๊ะอาหาร หลายบริษัทมักมีพนักงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการเลือกร้านอาหาร สถานที่ และกำหนดเมนูสำหรับมื้อสำคัญทางธุรกิจ

ทว่า เมื่อชีวิตวิถีใหม่ก้าวเข้ามาในชีวิตคนทำงาน มื้ออาหารทางธุรกิจก็หดหายสาบสูญไปจากการเป็นเครื่องมือสำคัญในการดิวงาน อย่าว่าแต่การรับประทานอาหารเพื่อพูดคุยในทางธุรกิจเลย แม้แต่จะทานอาหารในโรงอาหารร่วมกับเพื่อนร่วมงานก็ยังต้องห่างกันไว้ในแบบ Social Distancing ยิ่งช่วงที่ร้านอาหารต่าง ๆ พากันปิดตัวลงชั่วคราวจากมาตรการล็อคดาวน์ยิ่งทำให้การทำธุรกิจบนโต๊ะอาหารเป็นไปได้ยากขึ้น

Food Delivery เข้ามาเป็นมื้ออาหารทางธุรกิจแทนได้ไหม?


ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์โรคระบาดไปทั่วโลก Food Delivery เข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวออฟฟิศอย่างเรา ในช่วงล็อคดาวน์ต่างคนต่างทำงานอยู่ที่บ้านทั้งเรา เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า ถ้าเราอยากจะเชิญลูกค้ามารับประทานอาหารร่วมกันทางหน้าจอ หรือจะเรียกว่า Remote Lunch 2 Dinner เราในฐานะเจ้าภาพจะเป็นคนสั่งอาหารแบบ Food Delivery ให้ไปส่งที่บ้านลูกค้า เจ้านาย เพื่อนร่วมทีม จากนั้นก็นัดเวลากันออนไลน์ เปิดถุงเปิดกล่องอาหารมาทานพร้อมกัน พูดคุยเรื่องงานกันแบบมุ้งมิ้งบ้านใครบ้านมัน ทำอย่างนี้จะได้ไหมคะ?



อืม...ดิฉันว่าก็ได้นะคะ ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการรับรองลูกค้า แต่ว่าหัวใจสำคัญของมื้ออาหารทางธุรกิจไม่ได้อยู่ที่ “อาหาร” แต่อยู่ที่การ “สื่อสาร” ค่ะ

จากการที่ค้นคว้าหาเรื่องราวและคำแนะนำเกี่ยวกับ Business Lunch ที่เหมาะสม ดิฉันพบว่าคำแนะนำเรื่องอาหารมีเพียงแค่ 2 - 3 ข้อ จากกว่า 50 ข้อที่ได้อ่านผ่านตามา เช่น เลือกอาหารที่ทานง่ายไม่เลอะเทอะ มีการเสิร์ฟทีละจาน (นัยว่าจะได้ไม่กินเสร็จเร็ว) งดแอลกอฮอลล์ นอกนั้นจะเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับบรรยากาศ การแต่งกาย การสังเกตคู่สนทนา การให้บริการ การพูดคุย การจดบันทึกบนโต๊ะอาหาร การเตรียมสินค้าตัวอย่าง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้มื้ออาหารทางธุรกิจเป็นมากกว่าการรับประทานอาหารร่วมกัน

ดังนั้น การพูดคุยทางธุรกิจแบบออนไลน์จะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหาร คนส่ง Food Delivery ฮีโร่ของเราจึงไม่มีบทบาทสำคัญในตอนนี้ก็ได้


มื้ออาหารทางธุรกิจจะสาบสูญไปตลอดกาลจริงหรือ?


บางองค์กรที่ให้พนักงานทำงานแบบ Work from home ก็มักจะใช้การประชุมทางไกลผ่านเครื่องมือต่าง ๆ แทนการนัดเจอเพื่อพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นความสะดวกสบายที่เข้ามาในยุคที่การใช้ชีวิตทุกอย่างของมนุษย์สามารถทำได้แบบออนไลน์แทบทั้งหมด ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ แต่ชีวิตแบบออฟไลน์ก็ยังคงมีความสำคัญและส่งผลต่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงที่ต้อง Work from home หลายคนอาจต้องมีการประชุมร่วมกับผู้ร่วมงานหรือลูกค้าในแบบ Virtual กันบ้าง ลองนึกย้อนกลับไปดูว่าเราประสบกับปัญหาอะไรกันบ้าง

เสียงหมาเห่า ไก่ขัน มอเตอร์ไซค์แว้นผ่าน แทรกเข้ามาในระหว่างการประชุม

มีคนนอกวง (แต่อยู่ในบ้านเรา) เข้ามาร่วมประชุมด้วยเดินแบบผ่านไปผ่านมาให้เห็นแว่บ ๆ ที่มุมจอ

คุย ๆ กันอยู่ จังหวะเข้าได้เข้าเข็ม (ทางธุรกิจ) แบตหมด เน็ตกระตุก สัญญาณหาย

นั่นแหละค่ะ ไม่ใช่ทุกคน ทุกบ้านที่จะมีบรรยากาศและสถานที่เหมาะสมและพร้อมสำหรับการพูดคุยในการทำงาน และไม่ใช่ว่าการประชุมทุกครั้งจะเหมาะสมสำหรับการประชุมแบบ Virtual เช่นว่า ถ้าเราต้องพูดคุยกับลูกค้าหรือใครสักคนเป็นครั้งแรก บรรยากาศ การพูดคุยกันต่อหน้า (Face to Face) การสังเกตอากัปกิริยา หรือการสื่อสารที่ไม่ใช่แค่คำพูดก็ยังคงมีความสำคัญ และการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยิ่งสอนให้เราเห็นความสำคัญของการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาแบบต่อหน้ามากขึ้น



ถ้าให้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการประชุมแบบ Virtual กับมื้ออาหารทางธุรกิจก็สามารถระบุได้ว่า ผลลัพธ์ที่ต้องการสำหรับการประชุมแบบ Virtual คือ “การพูดคุยให้ได้งาน” ทว่า “การพูดคุยให้ได้ใจ” คือผลลัพธ์ของมื้ออาหารทางธุรกิจ ดังนั้นมื้ออาหารทางธุรกิจ (ทั้งเช้า กลางวัน เย็น) จะยังคงความสำคัญไม่สูญหายไป และจะกลับมาอีกครั้งหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โรคระบาด แม้ว่าระบบการทำงานทุกอย่างจะปรับไปเป็นรูปแบบ Online Working แต่เราก็ยังคงต้องการมื้ออาหารทางธุรกิจแบบ Offline ให้ได้อิ่มท้อง อิ่มอกอิ่มใจกันจริง ๆ อยู่ (จะให้อิ่มท้องแบบเสมือนคงไม่เหมาะนักใช่ไหมคะ)
ว่าแต่...อ่านมาจนถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านมีร้านและเมนูมื้ออาหารทางธุรกิจที่ไหน ที่ยังนึกถึง ตราตรึง และอยากแนะนำกันก็บอกกันบ้างนะคะ






อ่านเพิ่มเติม
Candace Smith Etiquette. (2020). Working Through a Working Lunch. from Candace Smith Etiquette Web site: https://www.candacesmithetiquette.com/working-lunch.html
Matthew Swyers. (2020). 7 Rules of a Successful Business Lunch from MANSUETO VENTURES Web site: https://www.inc.com/matthew-swyers/7-rules-of-a-successful-business-lunch.html
Mitchell Holt. (2020). Tips on a Good Business Lunch from Hearst Newspapers, LLC Web site: https://smallbusiness.chron.com/tips-good-business-lunch-169.html
Sophie Parrott. (2020). Will COVID-19 spell the end of working lunches? from Executive Grapevine International Ltd. Web site: https://my.executivegrapevine.com/content/ article/2020-07-01-should-hr-use-gendered-language-in-job-adverts