Dave Ulrich กับอนาคตของ HR จะหน้าตาเป็นอย่างไร?
ผมได้ยินชื่อ Professor Dave Ulrich หรือเรามักเรียกกันติดปากว่าอาจารย์เดฟครั้งแรกเพราะทาง PMAT เคยเชิญท่านมาเป็น Keynote speaker ในงาน HR Thailand Forum ในปี 2013 ซึ่งในตอนนั้นอาจารย์ได้กล่าวถึง HR from the outside in ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยที่เขาได้ศึกษามาเป็นเวลานาน โดยประโยคที่ยังตราตรึงในใจผมทุกวันนี้คือ “จงจำไว้ว่างานของ HR นั้น เหมือนกับการให้ของขวัญแก่พนักงาน แม้ว่าเราจะสรรหาของขวัญที่ราคาแพงมาเท่าไหร่ แต่คนกำหนดคุณค่าของของขวัญชิ้นนั้นคือผู้รับ มิใช่ผู้ให้” ซึ่งต่อมาอาจารย์ได้ชี้ให้เราเห็นลงไปชัด ๆ อีกในหนังสือเล่มถัดไปคือ The Why of Work ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ง่าย ๆ และ สั้น ๆ ต่อคนทำงานทั่วโลกเพียงแต่ว่า “ทำไมคุณถึงยังตื่นขึ้นมาทำงาน?” ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้ทำให้พวกเราในฐานะ HR กลับต้องมาย้อนคิดหลายตลบเลยว่า หน้าตาขององค์กรที่เราควรออกแบบให้พนักงานรู้สึกมีความหมายต่อการทำงานนั้นคืออะไร?
อาจารย์ Dave นอกเหนือจะเป็นผู้รู้และนักปฏิบัติเรื่อง HR แล้ว ท่านยังมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของผู้นำด้วย ดังนั้นทุก ๆ ทฤษฏีที่ออกมาจากงานเขียนของเขา จึงมุ่งเน้นหลักปฏิบัติที่มีต่อคนและองค์กรที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกขาดไม่ได้ สมัยนั้นในยุคที่ก่อนกระแส digital disruption จะเข้ามา และผู้คนยังคุ้นเคยกับคำว่า “โลกาภิวัฒน์” นั้น อาจารย์เคยบอกเราว่า HR จะต้องเตรียมปรับตัวจาก Administration Expert หรือผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการมาเป็น Employee Champion มากขึ้น เพราะ HR จะแข็งแต่เรื่องของกระบวนการอย่างเดียวไม่ได้ พวกเราจะต้องมีความเข้าใจความเป็นคนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยมาก ๆ ในขณะนั้น เพราะแนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดเดียวกับ design thinking อันโด่งดัง และมีชื่อเสียงต่อมาในเวลาในนานในบ้านเรา นอกจากนั้นอาจารย์ยังบอกอีกว่า HR จะต้องเป็น Change Agent ที่นำพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลง และต้องผลักดันตัวเองให้เป็น Strategic partner ให้ได้ แนวคิดเหล่านี้ตอนที่อาจารย์มีโอกาสเข้ามาบรรยายที่ประเทศไทย ผมจำได้ว่าผู้คนแน่นเต็มห้อง เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการ HR มาก ๆ เนื่องจากสมัยนั้นเราต้องยอมรับว่าการทำงานเชิงการบริหารงานบุคคลล้วนแล้วแต่ถูกปักป้ายว่าเป็น passive work หรือทำงานแบบตามคำสั่ง ไม่ได้มีโอกาสไปร่วมวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนทางธุรกิจขององค์กร แต่แนวความคิดที่ให้ HR ผันตัวเป็นนักบริหารกลยุทธ์นั้นได้รับการศึกษามาจากอาจารย์ Dave ว่า หาก CEO มีที่ปรึกษาเป็น HR แล้ว (หรือเรียกว่ามือขวาของ CEO) จะทำให้ผลประกอบการและการดำเนินธุรกิจขององค์กรทั้งเร็วและเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้นสำหรับงาน Thailand HR Forum 2020 ในครั้งนี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่า จากการตกผลึกทางความคิด งานวิชาการ การศึกษาวิจัยของอาจารย์จะยิ่งแน่นขึ้นไปอีก โดยหัวข้อที่เราได้เห็นผ่านตากันไปแล้วคือ การสร้างอนาคตของ HR ในยุคสมัยใหม่นั้นควรวางรากฐานเอาไว้ที่จุดไหนบ้าง โดยสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ยึดถือเป็นหลักการสำคัญในการบริหาร HR คือ ทุก ๆ กระบวนการนั้นให้มองเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง หรือ Continuousness โดยอย่าหยุดนิ่งหรือรอให้ใครมาบอกให้เราเริ่มทำอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังยุค Covid-19 ที่ผ่านมา อาจารย์ได้ให้หลักการเราเอาไว้ 5 แนวทาง ซึ่งผมคงเขียนสรุปได้ไม่ดีเท่าหากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เข้าร่วม และรับฟังจากปากของท่านเองในวันนั้นนะครับ อย่างไรก็ตามผมขออนุญาตสรุปประเด็นดังกล่าวคร่าวๆ ดังนี้
- เพิ่มการปรับแต่งรายบุคคลในงาน HR : หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ในโลกสมัยใหม่ ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการความเป็น “ของฉัน” มากขึ้น ทั้งการดูแล การออกแบบการเติบโตในการทำงาน หรือกระทั่งกระบวนการทำงาน เป็นต้น
- นิยามการทำงานใหม่จากสถานที่สู่คุณค่าของงาน : การทำงานที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องการ work from home หรือ work from anywhere กำลังจะสร้างในโลกของมนุษย์ทำงานกลายเป็น Hybrid workplace หรือขอบเขตของการมี “สถานที่ทำงาน” เริ่มพร่าเลือนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นในยุคหลังจากนี้ หาก HR จะต้องเตรียมรับมือการนิยามของการทำงานแบบใหม่ จึงควรจะเริ่มต้นจากการกำหนดคุณค่าของงาน มากกว่าสถานที่นั่นเอง
- เป็นผู้ชี้ทางท่ามกลางความสับสน : ในขณะที่ทั่วโลกเกิดภาวะวิกฤต องค์กรต่าง ๆ กำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว หรือปรับตัวเพื่อเตรียมรับวิถีชีวิตใหม่นั้น ย่อมหลีกเลี่ยงความสับสนอลหม่านไม่ได้ หลายองค์กรจะต้องเจอความขัดแย้งที่ซับซ้อนทั้งในการปฏิบัติงาน เช่น “ต้องการความเร็ว แต่ก็เร็วไม่ได้เพราะติดอะไรบางอย่างขององค์กร” ซึ่งนับเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการทำงานในยุคหลังจากนี้ HR จึงต้องเตรียมพร้อมเป็นผู้ชี้ทางให้การเปลี่ยนแปลงขององค์กรราบรื่น และทำลายอุปสรรคที่กั้นขวางเราอยู่
- น้อมรับความไม่แน่นอน : ในขณะที่ผู้คนและองค์กรกำลังแสวงหาแนวทางการรับมือสิ่งที่ผันผวนตลอดเวลา แต่ในภาวะวิกฤตนั้นยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นว่า ความไม่แน่นอนกำลังจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว ทำอย่างไรถึงจะทำให้ทั้งผู้นำ และพนักงานในองค์กรปรับเปลี่ยนกระบวนคิดให้รู้เท่าทันภาวะดังกล่าว
- มองหาหนทางที่ถูก : หลังภาวะวิกฤตในครั้งนี้นั้น การนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นเครื่องมือนำทางในการออกแบบรูปแบบของธุรกิจจะมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะการตัดสินใจที่ดีคือการได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ที่ดี ดังนั้น HR ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของบุคลากรในที่ทำงานนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
และนี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอีกหลายส่วนที่สำคัญของ “อนาคตใหม่ในงาน HR” ที่อาจารย์ Dave จะมาบรรยายให้เราฟังในงานดังกล่าว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ รายละเอียดเชิงลึกที่สำคัญอีกหลายจุดที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมิติต่าง ๆ ที่ HR จะต้องเตรียมสร้าง หรือ competencies ใหม่ ๆ ของ HR ที่ควรจะต้องเตรียมนับจากวันนี้ไป ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามรับชม และรับฟังต่อไปได้ใน Session ของ Professor Dave Ulrich ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2020 ที่จะถึงนี้ครับ
งานสัมมนา ‘THAILAND HR FORUM 2020’
Bridging the New Normal : Agile People, Performance and Platform
ในรูปแบบของ Virtual Conference ด้วย Digital Platform
วันที่ 18-20 สิงหาคม 2563
รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/2NUbK6K
ลงทะเบียนได้ที่ www.hrforum2020.com
#ThailandHRForum2020