https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
การสร้าง resilience from home
กลับš
 

การสร้าง resilience from home


หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า resilience บ่อยขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปลาย Covid-19 ที่หลาย ๆ คนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะคุ้นเคยกับ New Normal มากขึ้นเรื่อย ๆ หากนิยามคำนี้ในเชิงจิตวิทยาคำที่น่าจะเหมาะสม หรือใกล้เคียงกับการสื่อความหมายมากที่สุดคงจะเป็น “ความยืดหยุ่นทางจิตใจ” หรือจะเจาะจงในรายละเอียดให้มากขึ้นก็คือ การที่มนุษย์เรานั้นสามารถที่จะรับมือกับภาวะความว้าวุ่น หรือไม่สบายใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และปรับตัวให้อยู่ภายใต้สภาวะนั้น ๆ ได้จนกระทั่งสามารถพลิกกลับขึ้นมามีความสุข หรือความสมดุลหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป (บางคนก็เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าจิตตก และเก็บจิตขึ้นมาใหม่)
สิ่งแรกที่ HR ควรทำความเข้าใจก่อนคือ ปรากฏการณ์จิตตกของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน แต่มีงานวิจัยที่นักจิตวิทยาใช้กำหนดปัจจัยที่ทำให้คนเราสามารถสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจขึ้นมาสามปัจจัยด้วยกัน อันประกอบไปด้วย 1) ความมั่นใจต่อความสามารถของตัวเอง 2) ความมีวินัยในงานประจำของตัวเอง และ 3) การได้รับความสนับสนุนจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง โดยทั้งสามปัจจัยนี้มักเป็นแนวทางในการตั้งคำถามสำหรับองค์กรที่จะใช้วัดขีดของความจิตตกของพนักงานว่าตกลงไปลึกขนาดไหนนั่นเอง

คำพูดสร้างความเชื่อมั่น(Resilience-Oriented Conversations)


ลองจินตนาการถึงวิศวกร หรือช่างเทคนิคที่เคยอยู่หน้างานมาโดยตลอด แต่จังหวะหนึ่งของชีวิตต้องย้ายตัวเองมาทำงาน remote จากที่บ้าน พวกเขาอาจจะรู้สึกสงสัยถึงคุณค่า ศักยภาพ และความสามารถของตัวเองว่าด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ตนเองยังสามารถปฏิบัติงานได้ดีอยู่หรือไม่? หรือพนักงานที่ต้องดูแลเรื่องการอนุมัติสินเชื่อและกู้ยืมเงินที่อาจมีความกังวลต่องานตัวเองที่ทำเนื่องจากความปลอดภัยที่เคยมี หรือเคยได้รับการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากหัวหน้างาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสร้างความท้าทายต่องาน HR เป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาให้คำแนะนำคือการพยายามใช้คำพูดที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพวกเขาเหล่านั้นบ่อย ๆ โดยพยายามทำความเข้าใจระนาบการทำงานของพวกเขาจากเดิมที่ย้ายจากหน้างานเข้ามาที่บ้านของพวกเขานั้นมีความยุ่งยากหรือมีความเปลี่ยนแปลงทางเวลาอย่างไร การให้คำแนะนำที่ดีเบื้องต้นคือ “อย่าเร่ง” และ “ให้โอกาสในการตัดสินใจแก่พวกเขา”
งานวิจัยแสดงให้เราเห็นว่าการใช้วิธีแบบ coaching 1:1 นั้นได้ผลดีที่สุดในการสร้าง resilience และสามารถทำได้ผ่าน remote session หรือ online coaching โดยการสร้างบทสนทนาดังที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตามข้อเสียประการหนึ่งของกระบวนการนี้คือ มันใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นการสนทนาแบบตัวต่อตัว ดังนั้นการควบคุมเวลาจึงเป็นเรื่องยากและต้องจัดเตรียมให้ดีก่อนเสมอ พึ่งระลึกเอาไว้ว่าก่อนที่ท่านไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้า หรือ HR หากจะต้องกำหนด session ดังกล่าว จะต้องแจ้งล่วงหน้าให้พนักงานทราบเสมอ อย่าทำให้เป็นเรื่องกะทันหัน เพราะนอกจากจะสร้างความวิตกกังวลให้พนักงานแล้ว ยังอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ด้วย


ถามคำถามให้บ่อยขึ้น


สถานการณ์ Covid-19 นั้นสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนจำนวนมาก และความหวาดกลัวนั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคนเป็นปัจจัยต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการคาดคะเน หรือการสร้างสรรค์แนวทางการแก้ปัญหา แต่สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการถามคำถามเพื่อ “ทบทวนกลับ” ความหวาดกลัวเหล่านั้น เช่น การถามตรง ๆ กับพนักงานว่าในช่วงเวลาดังกล่าวพวกเขาต้องการกำลังใจจากใครมากที่สุด ต้องการการจัด meeting พิเศษเพื่อคุยกับใครหรือไม่ หรือต้องการความเชื่อเหลืออื่นใดที่เพื่อนร่วมงานสามารถช่วยเหลือกันและกันได้ (การให้ความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานนั้นมักถูกหลงลืมเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นที่เริ่มจากคนที่ใกล้ชิดที่สุดก่อนนั้นจะสร้าง resilience ได้ดี)


สร้างโอกาสในการเรียนรู้

Robert J. Thomas ได้เสนอในหนังสือของเขา “Crucibles of Leadership” ว่าคนเราควรต้องมองหาโอกาสในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในสถานการณ์ที่เลวร้าย มากกว่ามองข้ามสถานการณ์เหล่านั้นไป ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยที่ต้อง “ยกระดับ” การเรียนรู้ของตัวเองให้สามารถสร้างสื่อการสอนออนไลน์ด้วยตนเองให้ได้เพื่อความรวดเร็วในการสอนนักเรียนและนักศึกษาที่จำเป็นจะต้องเรียนให้จบตามภาคการเรียน แต่ในขณะเดียวกันเมื่ออาจารย์เหล่านี้สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ หากวันหนึ่งที่ภาคการศึกษาปร้บเปลี่ยนไปเป็นการสอนออนไลน์ อาจารย์เหล่านี้ก็จะสามารถสร้างขีดความสามารถขอตัวเองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งหนึ่งที่น่ารักและสามารถทำได้โดยใช้ต้นทุนที่ไม่สูงมากคือ หาพนักงานในหน่วยงานที่มีทักษะหรือความสามารถพิเศษที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงเวลานี้ และจัดเป็นการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการให้พนักงานคนอื่นได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น การสอนทำ sharing powerpoint ที่ทุกคนสามารถแก้ไขสไลด์ได้พร้อมกัน หรือสอนการใช้ planner ในระบบ Microsoft Teams ที่ทำให้เราสามารถติดตามงานจากทุกคนได้อย่างสะดวก เป็นต้น
หาก HR อย่างพวกเราสามารถสร้าง resilience จากที่บ้านได้ เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้พนักงานก็จะมีความเป็นทีมและปรับตัวได้เร็วขึ้นตามลำดับนั่นเอง




Ref:
https://hbr.org/2020/04/build-your-teams-resilience-from-home
https://bpspsychub.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/joop.12123
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-03-24/panic-working-at-home-through-coronavirus-will-lead-to-burnout