โฉมหน้างานใหม่ของ HR ในอีก 5 ปีข้างหน้า
งานของ HR นั้นเรียกได้ว่าปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในยุคเศรษฐกิจถดถอย ยุคโรคระบาด ยุคอุทกภัย หรือภัยทางธรรมชาติต่าง ๆ หรือการเกิดสถานการณ์ผิดปกติในสังคม เนื่องด้วยปัจจัยที่สำคัญที่สุดในโลกใบนี้คือ “มนุษย์” นั้นเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่ซับซ้อนที่สุด ดังนั้นการพยายามที่จะคาดเดาว่าในอนาคตงานของ HR จะมีหน้าตาอย่างไรนั้น ก็จะต้องเริ่มต้นที่คนเป็นหลักก่อนนั่นเอง ทีนี้หากเรามุ่งประเด็นการพัฒนางาน HR ไว้ที่คนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นสำหรับคำถามที่ถามว่าโฉมหน้างานใหม่ของ HR ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นถึงการต้องไล่เริ่มกันตั้งแต่การสอบถามมนุษย์ด้วยกันเอง
Mckinsey ได้เคยประกาศเอาไว้ว่า ภายหลัง Hamburger Crisis หน้าที่ของ CFO ที่ดูแลด้านการเงินก็เปลี่ยนไปชนิดที่คงไม่ย้อนกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีก เช่นกันกับงานของ CHRO เช่นกัน ดังนั้นด้วยแนวคิดเช่นนี้ ทาง The Cognizant Center for Future of Work และ Future Workplace จึงได้ใช้เวลานานกว่า 9 เดือนเพื่อค้นหาโฉมหน้าของ HR ในอีกหลายปีข้างหน้าว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งสำหรับการวิจัยนี้ได้ใช้การสัมภาษณ์บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ HR ทั้งหมดกว่า 100 ชีวิต โดยดึงเอาปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประชากรศาสตร์ สังคมวิทยา วัฒนธรรม ธุรกิจ และเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตามจากบทสรุปของงานวิจัยดังกล่าว ทำให้แตกแขนงงานใหม่ของ HR ออกมาได้มากถึง 60 งานด้วยกัน และคาดเดาว่าไม่เกิน 10 ปีงานพวกนี้จะเกิดขึ้นมาจริง ๆ จากสมมติฐานของผลการวิจัย ดังนั้นสำหรับวันนี้จึงขอหยิบยกมาเพียงงานที่คาดเดาว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า และคิดว่าน่าสนใจเท่านั้น สำหรับท่านที่อยากอ่านฉบับเต็มของงานวิจัยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cognizant.com/whitepapers/21-hr-jobs-of-the-future-codex5450.pdf
1.) Work From Home Facilitator
ไม่มีกระแสใดในยุค new normal นี้จะแรงไปมากกว่ากระแสการทำงานจากที่บ้านอีกแล้ว หน้าที่ใหม่ของ HR นอกจากจะต้องสร้าง engagement กับบุคลากรในที่ทำงานแล้ว ยังจะต้องดูแลการทำงานจากที่บ้าน หรือ remote worker ด้วย นอกจากจะเป็นการทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นทางสภาวะจิตใจแล้ว ยังจะต้องคอยเป็น Enabler หรือผู้อำนวยในเกิดความสามารถในการทำงานอย่างคล่องตัว การออกแบบสวัสดิการที่เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย รวมถึงการจัดอุปกรณ์ทำงานที่เหมาะสมกับ remote work ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่พิเศษคือการคอยทำ health check เพื่อดูว่า productivity ของการทำงานดีหรือแย่ลงหรือไม่? มีผลกระทบต่อพนักงานในด้านจิตใจหรือไม่? จากนั้นจึงมาออกแบบกระบวนการช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานต่อเนื่องในระยะยาวได้นั่นเอง
2.) Workplace Environmental Architect
นอกจาก HR จะต้องปรับตัวตามกระแส new normal way of work อย่างการทำงานจากที่บ้านแล้ว HR ยังจะต้องมีอีกหน้าที่หนึ่งคือ เป็นสถาปนิกที่ออกแบบสถานที่ทำงานรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับพนักงานที่ต้องทำงานแบบ on-site หรือ hybrid ด้วยนั่นเอง โดยนิยามของคำว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น แน่นอนว่าคงไม่อาจจำกัดได้แค่สถานที่ แต่ต้องเป็นบรรยากาศในการทำงานที่ปลอดภัยด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำสถานที่ทำงานให้เหมาะสมในช่วงมีโรคระบาด หรือการสามารถช่วยเหลือเพื่อนพนักงานที่จำเป็นจะต้องเลี้ยงลูกในระหว่างการทำงานด้วย เป็นต้น
3.) Strategic HR Business Continuity Director
ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน การที่ HR จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอในการเกิดภาวะวิกฤตที่คาดเดาไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมสร้างรากฐานเสียตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยหลักการของ Business Continuity หรือการที่สามารถทำให้พนักงานปลอดภัยมากพอที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์ที่มีความโกลาหลระดับโลก แต่หมายถึงเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดผลกระทบโดยตรงต่อสภาพทางธุรกิจนั่นเอง เช่น การถูกตัดขาดจากระบบขนส่ง การถูกโจรกรรมข้อมูล การเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น HR ที่ดูแลหน้างานนี้จะต้องรู้จักการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ลงมือทำระบบที่สามารถพยุงพนักงานที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในสถานที่หรือสภาวะที่ทำงานได้อย่างสบายใจ เช่นการเตรียมสถานที่ทำงานที่พนักงานสามารถเยี่ยมครอบครัวได้ หรือสถานที่ทำงานที่พนักงานได้รับการอำนวยความสะดวกต่อการทำงานที่มีความเครียดสูง เป็นต้น
4.) Gig Economy Manager
งานใหม่สุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้ คือเรื่องของ HR ที่จะต้องเตรียมดูแลกำลังพลแห่งอนาคตที่แท้จริง เป็นกำลังพลแฝงที่ตามหลัก build buy borrow แล้วคือการขอยืมแรงงานจากภายนอกมาใช้ชั่วคราว ซึ่งอย่างไรก็ตามดังที่เคยเขียนถึงเรื่อง workforce on-demand ไปในบทความก่อนหน้านี้แล้วนั้น หากการที่ปล่อยให้แต่ละคนรับแรงงานแบบ gig เข้ามาโดยไม่มีการบริหารจัดการก็อาจจะก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านขึ้นมาในที่ทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบการทำงาน หรือการจ่ายค่าตอบแทนที่ผันแปรไม่รู้จบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม 4 ตัวอย่างที่ยกขึ้นมานั้นเป็นเพียงกลุ่มเดียวจากทั้งหมดเกือบ 60 งานที่ผลวิจัยได้นำเสนอ และพยายามคัดเลือกที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบันของประเทศไทยให้มากที่สุด ทั้งนี้ยังมีงาน HR ที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอคติระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ หรือเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการสืบค้นข้อมูลชุดเฉพาะเจาะจงรายบุคคล หรือนักสืบข้อมูล เป็นต้น
หากท่านผู้อ่านชื่นชอบบทความที่ทาง PMAT ได้นำเสนอ ทาง PMAT ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน PMAT Thailand HR Day 2020 ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2020 นี้ โดยหัวข้อที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องปัญหาและความท้าทายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลแล้วนั้น ยังมีประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเพียง HR เท่านั้น โปรดติดตามรายละเอียดได้จาก Facebook Fan Page ของ PMAT
ข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ www.hrday2020.net
อ้างอิง
https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/the-new-cfo-mandate-prioritize-transform-repeat
https://hbr.org/2020/08/21-hr-jobs-of-the-future