https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
ของขวัญปีใหม่ จากใจ HR 2021
กลับš


ของขวัญปีใหม่ จากใจ HR 2021


สวัสดีนักอ่านที่รักทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเป็นวิชาชีพการบุคคล ผู้จัดการ หัวหน้างาน พนักงาน หรือตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรก็แล้วแต่ ปี 2021 ที่เข้ามาในชีวิตพวกเราทุกคนนั้นคงไม่ต่างจากปี 2020 มากนัก ข่าวดีคือพวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่ผ่านมันมาพร้อมจุดเรียนรู้ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการยามวิกฤติ หรือการจัดการทำงานจากที่บ้านตามกระแส social distancing หรือพฤติกรรมแบบ new normal ที่เกิดขึ้น
แน่นอนว่าความแตกต่างที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นคงแตกต่างกันตามวาระของประเภทอุตสาหกรรมและลักษณะทางธุรกิจที่ต่างกันตามการบริหารจัดการ บางคนอาจได้รับผลกระทบน้อย และในขณะเดียวกันหลายคนก็ได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัส อย่างไรก็ดี ในฐานะคนที่ทำหน้าที่ดูแลคนในองค์กรนั้น สำหรับปี 2021 ทางทีมงานได้สรุป “ของขวัญปีใหม่” 3 อย่างที่ในฐานะ HR ควรจะต้องมอบให้กับองค์กรของท่าน เพื่อสร้าง resilience หรือการรักษาจิตใจ และสภาพแวดล้อมในการทำงานในองค์กรของท่านให้กลับขึ้นมาสู้กลับความผันผวนที่รออยู่ข้างหน้าต่อไปได้

1. Recruit


ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ตลาดแรงงานในปัจจุบันเราจะพบกับความหลากหลายของ generation อยู่เต็มไปหมด แม้ว่าตลาดแรงงานในปี 2021 อาจจะยังคาดการณ์ได้ไม่มากนักว่าจะเกิดการย้อนกลับมาของอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น หรือลดลง แต่อย่างไรก็ตามการค้นหาแรงงาน หรือบุคลากรที่เหมาะสมให้กับองค์กรในช่วงเริ่มต้นปีก็ถือเป็นภาระกิจที่สำคัญยิ่งของ HR

มีหลายคนที่เคยสงสัยว่า ปัจจัยในการสัมภาษณ์งานนั้น เรื่องอะไรยากที่สุด และสำคัญที่สุด ผู้เขียนขอใช้ประสบการณ์ในการเคยเป็น recruitment / head hunter และ consultant มาก่อนตอบว่า การหาคนที่ “เข้ากันได้” กับวัฒนธรรม หรือความเป็นตัวตนขององค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด

การสัมภาษณ์งานผ่าน remote video call นั้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการเฟ้นหาบุคลากรที่น่าจะเข้ากันได้กับองค์กร เพราะการถามคำถามไม่กี่ข้อ การสังเกตอากัปกริยา หรือน้ำเสียง ความฉะฉาน หรือการแสดงความคิดเห็นระหว่างการสนทนา อาจจะทำได้ไม่ดีเท่ากับการนั่งสัมภาษณ์งานกันแบบตัวต่อตัว แต่เราก็สามารถยกระดับข้อจำกัดเหล่านั้นออกไปได้ วิธีที่หลายบริษัทชอบใช้คือ การใช้ whiteboard แล้วเขียนแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เพื่อบังคับให้คู่สนทนาสามารถวาดภาพหรือ visualize สิ่งต่าง ๆ ในใจ ออกมาเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่แพร่หลายในการสัมภาษณ์ เช่น การทำ role playing หรือการสวมบทบาท ซึ่งใช้ได้ดีกับการให้ธรรมชาติของผู้สมัครสามารถหลุดออกมาพร้อมกับบทบาทสมมติที่เรากำหนดไว้ เช่น สถานการณ์แบบการให้เจอปัญหาเฉพาะหน้า การรับมือกับข้อร้องเรียน หรือการแสดงความคิดเห็นในการประชุม เป็นต้น

นอกจากการสัมภาษณ์แล้ว การสรรหาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ในภาวะวิกฤตแบบนี้นั้น การสร้าง virtual job fair อาจจะพอช่วยเหลือได้ แต่ก็ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่ากับการจัด job fair ตามสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากผู้สมัครบางคนอาจจะไม่พร้อม หรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งช่องทางของการจัดแบบ online ได้ ดังนั้น HR จะต้องหูตากว้างไกล พยายามทดลองกระบวนการสรรหาแบบใหม่ไปเรื่อย ๆ เพื่อค้นหาช่องทางที่เหมาะสมที่สุด


2. Retain


ของขวัญปีใหม่อีกอันที่ HR สามารถมอบให้กับพนักงานได้ในช่วงนี้คือ การสร้างบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยความปลอดภัย และความห่วงใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัส Covid-19 ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ การเตรียมการด้านการ work from home หรือการพยายามสร้างการสื่อสารแบบทั่วถึงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ณ ขณะที่บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไป เชื่อว่ายังมีเพื่อนพี่น้องพนักงานหลาย ๆ ท่านที่ยังสับสนอยู่ว่านโยบายของบริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง การเกิดความไม่รู้ และสับสนในภาวะนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องส่งผลกระทบโดยตรงกับสภาพจิตใจ และกระทบกับ productivity ของการทำงานแน่นอน

การสร้าง retention นั้นสอดคล้องกับการสร้าง engagement ต่าง ๆ ที่เป็นทั้งกิจกรรม และนโยบาย เช่น การอนุญาตให้พนักงานสามารถมีการยืดหยุ่นของเวลาเข้างาน การทำงานจากสถานที่ที่สะดวกปลอดภัย หรือการได้ใช้เวลาในการจัดการชีวิตครอบครัวให้ปลอดภัยก่อน จึงเป็นหลากหลายแนวปฏิบัติที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มใช้กันในปี 2020 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ภายใต้วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญที่สุดเสมอคือ “พนักงานปลอดภัยมากพอที่จะสามารถปฏิบัติงานได้”
ในปี 2021 นี้ HR ควรที่จะต้องมองย้อนทบทวนกันดูว่ามีกิจกรรม หรือสามารถสร้างแนวนโยบายใด ๆ ที่ตอบสนองต่อภาวะการทำงานระยะไกลแบบนี้ได้ หลายองค์กรในต่างประเทศ เริ่มปรับมาใช้ระบบ teleconference เพื่อทำกิจกรรมกับลูก ๆ ของพนักงานมากขึ้น การทำ virtual townhall ที่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้กับพนักงาน


3. Mentor


ของขวัญประการสุดท้ายที่ HR สามารถมอบกับพนักงานได้คือหน้าที่ “ที่ปรึกษา” คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ เพราะสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ productivity ในการทำงาน คือ mental wellness หรือ สุขภาพจิตอันดีของเพื่อนพนักงานทุกท่าน หลายคนคงเคยได้ยินเสียงเพลง HR HR คือยาวิเศษ มาบ้าง เนื่องจากพนักงานเค้ามอง HR เป็นแบบนั้นจริง ๆ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา คนแรกที่เค้าอยากจะโทรหาก่อนคือเราเสมอ แต่หากเมื่อไหร่ที่เค้าเลือกที่จะไม่โทรหา HR นั่นแสดงว่า ความเชื่อใจมันหายไปแล้ว ดังนั้นการทำหน้าที่เป็น mentor ที่ดีคือ การหมั่นเจ๊าะแจ๊ะ คุยเล่นกับพนักงานบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องมากเกินพอดี การ mentor ที่ดีคือ การรับฟังให้เยอะ ๆ เข้าใจให้มาก ๆ รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นมาประมวลผล และคิดหาวิธีช่วยเหลือ
สิ่งสำคัญที่สุดไม่แพ้กันก็คือ HR เอง ก็ต้องหมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ ซึ่งกันและกันด้วยนะ

สวัสดีปีใหม่ ทุกท่าน