ผลสำรวจการขึ้นเงินเดือนและการให้โบนัสประจำปี 2566-2567
สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)
สภาวะเศรษฐกิจโลก
• กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว โดยคาดว่าการเติบโตทั่วโลกจะลดลงจากร้อยละ 3.5 ในปี 2565 เหลือร้อยละ 3.0 ในปี 2566 และ 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลก (Headline inflation) คาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 8.7 ในปี 2565 เหลือร้อยละ 6.8 ในปี 2566 และร้อยละ 5.2 ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core) คาดว่าจะค่อย ๆ ลดลงมากขึ้น และคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2567 ได้รับการปรับให้สูงขึ้น
• ธนาคารโลก (World Bank) มองว่าการเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะชะลอตัวเหลือร้อยละ 2.1 ในปี 2566 โดยภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวและอุปสงค์จากภายนอกที่ลดลงจะส่งผลต่อการเติบโตของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ความเสี่ยงด้านลบ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินของธนาคารต่าง ๆ และนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
สภาวะเศรษฐกิจไทย
• บทสรุปผู้บริหารในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.8 และ 4.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จาก (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และ (2) การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ทั้งนี้ ภาคการส่งออกสินค้าซึ่งปรับลดลงตั้งแต่ปี 2565 กำลังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวและคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ด้วยอานิสงค์จากการเปิดประเทศของจีนและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งจะเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังปี 2567 ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐที่อาจมากกว่าประเมินไว้ นอกจากนี้ยังระบุว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 และ 2.6 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ (สรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ณ 27 กันยายน 2566) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะลดลงไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากแรงกดดันด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงตามค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และ 2567
สรุปข้อมูลการขึ้นเงินเดือนและการให้โบนัส ปี 2566-2567
• กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นกลุ่มที่มีการขึ้นเงินเดือนและให้โบนัสสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของการสำรวจครั้งนี้ ส่วนกลุ่มยานยนต์เป็นกลุ่มที่ให้โบนัสสูงสุดติดต่อกันหลายปีที่ผ่านมา
• การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.58 โดยอุตสาหกรรมที่ขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.25, 5.05 และ 5.02 ตามลำดับ
• คาดการณ์การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 4.64 โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค และ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง คาดการณ์ขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.33, 5.17 และ 4.83 ตามลำดับ
• การจ่ายโบนัสรวม (โบนัสคงที่และโบนัสผันแปร) ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.57 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ให้โบนัสรวมสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร จ่ายโบนัสรวมเฉลี่ย 4.45, 3.15 และ 2.59 เท่าของเงินเดือนตามลำดับ
• อุตสาหกรรมที่ให้โบนัสคงที่ ปี 2566 สูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มเทคโนโลยี ให้โบนัสคงที่เฉลี่ย 2.41, 1.70 และ 1.50 เท่าของเงินเดือนตามลำดับ
• อุตสาหกรรมที่ให้โบนัสผันแปร ปี 2566 สูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มเทคโนโลยี ให้โบนัสผันแปรเฉลี่ย 4.12, 3.32 และ 2.64 เท่าของเงินเดือนตามลำดับ
• คาดการณ์การจ่ายโบนัสรวม (โบนัสคงที่และโบนัสผันแปร) ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.47 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ให้โบนัสรวมสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จ่ายโบนัสรวมเฉลี่ย 4.29, 2.71 และ 2.65 เท่าของเงินเดือนตามลำดับ
• อุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะให้โบนัสคงที่ ปี 2567 สูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะให้โบนัสคงที่เฉลี่ย 2.58, 1.89 และ 1.25 เท่าของเงินเดือนตามลำดับ
• อุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะให้โให้โบนัสผันแปร ปี 2567 สูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ คาดว่าจะให้โบนัสผันแปรเฉลี่ย 2.82, 2.81 และ 2.80 เท่าของเงินเดือนตามลำดับ
เปิดจองแล้ว! รายงานผลการสำรวจ ค่าตอนแทนรวมและวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายและแนวทางปฎิบัติในการบริหารทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย ในปี 2566/2567 (Thailand Total Rewards Survey 2023/2024)
สั่งจองผลการสำรวจได้ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 พร้อมจะได้รับส่วนลดพิเศษดังนี้
- สมาชิก PMAT 13,910 บาท (สั่งซื้อภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 รับส่วนลดเพิ่ม 1,000 บาท)
- ผู้สนใจทั่วไป ราคา 16,050 บาท (สั่งซื้อภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 รับส่วนลดเพิ่ม 500 บาท)
พร้อมรับสิทธิพิเศษเข้าร่วมสัมมนาฟรี แบบ Onsite "แนวโน้มการปรับอัตราค่าตอบแทนรวมฯ เพื่อปรับกลยุทธ์ค่าตอบแทนให้เหมาะสม" โดย อาจารย์ วรกิต เตชะพะโลกุล หัวหน้าโครงการThailand Total Rewards Survey 2023/2024 และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน รับเพียง 100 ท่านแรกที่สมัครมาก่อนเท่านั้น สนใจสั่งจองและกรอกรายละเอียดได้ที่ www.pmat.or.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณภัทรรัมภา Mobile: 061 838 1551 หรือ email : Survey@pmat.or.th
แหล่งข้อมูล
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2566). รายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 2 ปี 2566. กรุงเทพมหานคร.
Global Economic Prospects. Worldbank. (2023, June). https://www.worldbank.org/en/publication/global-economic-prospects#outlook
World economic outlook update, July 2023: Near-term resilience, persistent challenges . IMF. (2023, July 25). https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2023/07/10/world-economic-outlook-update-july-2023