HR กับการสร้าง Engagement ผ่านระบบ Online ในช่วง Work From Home
สำหรับ HR นั้นต้องยอมรับว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง Engagement หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกกันติดปากว่า “เม้ามอย” เนื่องจากการทำงานจากที่บ้านนั้นเราจะได้คุยกับเพื่อนร่วมทีมก็ต่อเมื่อมีประชุมเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างการประชุมนั้นก็ไม่สามารถที่จะพูดออกนอกเรื่องได้มากนัก (เราเรียกการเม้ามอยเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ว่า Water-cooler Chat ให้นึกถึงเวลาเราเดินไปเติมน้ำ หรือชงกาแฟ แล้วเจอเพื่อนตรงนั้นพอดีเลยแวะคุยกัน) พอเราต้องทำงานผ่านระบบประชุมออนไลน์จึงทำให้กระบวนการพูดคุยตรงนี้ขาดหายไป
หลาย ๆ กิจกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึงได้เข้ามาทดแทนการเม้ามอยดังกล่าวที่ขาดหายไป หากวันนี้ท่านเป็น HR ที่ต้องดูแลพนักงานที่ต้องทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก หรือเป็นการทำงานแบบผสมผสาน คือมีทีมที่ปฏิบัติงานทั้งที่บ้าน และที่สำนักงาน ความท้าทายในการกระชับความสัมพันธ์อาจจะยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่เข้างานใหม่ในช่วงนี้มักจะพบความยากลำบากในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นลักษณะการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้นในยุคที่การทำงานมี social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้น HR จึงจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกเครื่องมือประกอบการสร้าง Engagement ให้อย่างน้อยแม้อาจจะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างที่ควร แต่ก็ประคับประคองไม่ให้ลดลงมากเกินไป มาดูกันว่า เราสามารถใช้อุปกรณ์ในยุคปัจจุบันสร้างหรือรักษาระดับของ Engagement ในงานได้บ้าง
1. Game Online ที่ไม่ใช่แค่ระบบ Gamification
คำว่าเกมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชวนให้พนักงานจัด eSport แข่งขันกันอย่างจริงจัง แต่เป็นการสร้าง Water-cooler Chat ขึ้นจากที่บ้าน หรือที่สำนักงานพร้อม ๆ กัน ซึ่งการเล่นเกมออนไลน์นั้นใช้เวลาในการเล่นไม่เกินครั้งละ 5-10 นาทีเท่านั้นเอง วันนี้เราจะขอยกตัวอย่างเกมที่หลาย ๆ บริษัทในประเทศไทยใช้เล่นระหว่างพักเบรกประชุม หรือพักกลางวันเพื่อสร้างกลุ่มเม้ามอย เฮฮา ระหว่าง Work from home กันอย่าง Among Us
Among Us เกมออนไลน์แบบเล่นพร้อมกันหลายคนจากบริษัทพัฒนาเกมชื่อ Innersloth ซึ่งมีทีมงานอยู่สามคน คือ Forest, Marcus และ Amy โดยตัวเกมจริง ๆ นั้นออกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2018 แล้ว แต่เพิ่งจะกลับมาดังเป็นพลุแตกเมื่อมี streamer หลาย ๆ คนหยิบมันกลับมาเล่นใหม่ในปี 2020 ท่ามกลางภาวะที่ทุกคนอยู่แต่ในบ้านและหากิจกรรมเล่นยามว่างกับเพื่อน
หลักการเล่นเกมนั้นง่ายมาก โดยที่เกมนี้เราสามารถเล่นออนไลน์พร้อม ๆ กันได้ตั้งแต่ 4 – 10 คน โดยกติกาคือ ในบรรดาเพื่อนที่เล่นด้วยกันอยู่นั้น จะมี 1 หรือ 2 คน (แล้วแต่เรากำหนด) ที่เป็นตัวปลอม (Imposter) แฝงเข้ามาในกลุ่มเราที่เป็นลูกเรือบนยานอวกาศ ฉากหลังของการเล่นจะเป็นนอกโลกเป็นหลัก ผู้เล่นที่เป็นคนปกติจะได้รับงาน (Task) ที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละคนจะต้องรีบไปปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เมื่อปฏิบัติภารกิจสำเร็จเกมก็จะจบลงและคนที่เป็นลูกเรือทั้งหมดจะชนะ ส่วนคนที่เป็นตัวปลอม หรือคนร้ายนั้นจะต้องทำทุกทางไม่ให้ลูกเรือปฏิบัติภาระกิจสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งต่าง ๆ ทำให้ไฟดับ ระบบสื่อสารขัดข้อง ฯลฯ และหนึ่งในนั้นคือลงมือฆ่าลูกเรือให้ตาย เกมจะบังคับให้เราห้ามคุยกันระหว่างปฏิบัติภาระกิจ ใครที่โดนฆ่าก็ต้องเงียบ ๆ ไว้ จนกระทั่งมีคนมาเจอศพเราและสามารถกดปุ่มเรียกประชุมได้ (Report) จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการอภิปรายว่าใครคือคนร้าย และทำการโหวต ซึ่งแน่นอนว่าถ้าโหวตถูกก็โชคดีไป แต่ถ้าโหวตผิด เกมก็จะต้องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ทีนี้ความสนุกของเกมคือ เพื่อน ๆ จะต้องบลั๊ฟ หรือโกหกหน้าตายกัน ซึ่งเราการันตีได้เลยว่ามันจะสนุกสนานและเฮฮาเสียงดังลั่นแน่นอน ทั้งนี้นอกเหนือจาก Among Us แล้ว ยังมีเกมออนไลน์ฟรี ๆ ที่สามารถเล่นได้อย่างสนุกสนานแบบนี้อีกเช่น Spy Fall หรือ Werewolf เป็นต้น ซึ่งหากท่านสนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในจาก Google เลย
2. การใช้ระบบห้อง Chat แบบมีชีวิตชีวา
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาพนักงานในองค์กรเราหลายคนเริ่มปรับตัวเข้ากับการสื่อสารแบบ Text มากกว่า Voice ได้แล้ว (สั่งงานทางตัวอักษร เร็วกว่าการนัดคุยกัน) แต่อย่างไรก็ตามแม้การสั่งงานทางตัวอักษรจะเริ่มกลายเป็นความปกติของการทำงานไปแล้ว แต่พนักงานหลายคนก็ยังรู้สึกว่าการสั่งงานแบบนี้นั้นแห้งแล้ง ไร้อารมณ์ และขาดสีสันไม่เหมือนการนั่งคุยงานกันในออฟฟิศตามปกติ จะคุยเล่นก็คุยไม่ได้ จะแอบแซวเพื่อนก็ทำไม่ได้ แต่บางบริษัทในประเทศไทยก็มีทางออกสำหรับความอึดอัดเหล่านี้เช่นกันนั่นคือ “การตั้งห้องคุยเล่น” หลาย ๆ คนอาจคุ้นเคยกับ Application สนทนาอย่าง Line แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นยังมีอีกหลากหลาย Application ที่เหมาะกับการคุยงานมากกว่า เช่น Discord / Slack หรือ Microsoft Teams เป็นต้น เนื่องจาก Application เหล่านี้มีระบบที่ช่วยให้เราสร้างความมีชีวิตชีวาในการคุยงานมากขึ้นได้ เช่น ระบบตั้งห้องย่อยแยกออกมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้าง Group Chat ใหม่ให้วุ่นวาย เพราะเป็นการโยกคนจากห้องหลักมาห้องย่อยนั่นเอง หลาย ๆ บริษัทมีไอเดียที่น่าสนใจ เช่น
- เปิดห้องกลางเอาไว้ที่เป็นห้องที่ทุกคนต้องเปิดไมค์ตลอดเวลา เหมาะสำหรับอยากเข้ามาเม้ามอยหรือคุยเล่น
- เปิดห้องเฉพาะกิจ เช่น ห้องคุยละคร ห้องสปอยหนัง ห้องผลบอล หรือห้องคาราโอเกะ! (เอาไว้ร้องเพลงกัน)
- เปิดห้องหัวหน้าเอาไว้คุยเรื่องฉุกเฉิน โดยในนั้นจะมีหัวหน้าทีมอยู่เพียงคนเดียว ถ้าใครอยากคุยเป็นกรณีพิเศษ สามารถเข้ามาได้เลย ทำแบบนี้ก็เหมือนกับอยู่ออฟฟิศแล้วเดินเข้าห้องนายอย่างไงก็อย่างงั้นเลย
- เปิดห้องสั่งกับข้าว เอาไว้ถกเถียงเรื่องการสั่งข้าวกลางวันกินกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีไอเดียที่สามารถทำได้อีกหลากหลายเช่น การเขียนบอทเอาไว้สั่งงาน สั่งข้าว ทวงงาน ฯลฯ อีกเยอะแยะ เช่นตัวอย่างจากบริษัทนี้เป็นต้น
https://twitter.com/scomma/status/1310871757994090497?s=20
3. สันทนาการร่วมกันแบบ Online
หลายบริษัทมีการเริ่มต้นใช้การสร้างกิจกรรมสันทนาการร่วมกันแบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนัดกินข้าวกลางวันด้วยกันผ่าน video call หรือการนั่งเล่นบอร์ดเกมด้วยกันช่วงพักเที่ยง (ให้อารมณ์เหมือนเรานั่งเล่นหมากรุกในห้องสมุด) บางคนก็ลุกขึ้นมาออกกำลังกายด้วยกันช่วงเลิกงาน หรือแม้กระทั่งมีการชวนกันดูหนังแบบ Streaming พร้อม ๆ กันเพื่อเป็นการผ่อนคลาย โดยเฉพาะน้อง ๆ พนักงานที่เข้างานใหม่ในช่วงนี้นั้นจะมีความท้าทายมากขึ้น บางคนเลยจัดเป็น Session รับน้องขึ้นมา มีกิจกรรมแนะนำตัวสนุก ๆ เช่นให้พี่ ๆ แต่ละคนเล่าเรื่องที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเกี่ยวกับตัวเอง แล้วให้ทายว่าอันไหนจริง หรือหลอก เป็นต้น หรือบางคนก็ใช้การเปิด Google Maps Street View แนะนำบริษัทให้คนเข้างานใหม่รู้จักทุกตรอกซอกซอยแบบโลกเสมือนจริง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างที่ยกมานั้นส่วนใหญ่ HR จะเป็นคนรอให้พนักงานคิดกันขึ้นมาเองก่อนเสมอ นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ลงลึกไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ตามหลักการ Empathize นั่นเอง ดังนั้น วันนี้หากพวกเราพร้อมแล้ว ก็ขอให้ทดลองก้าวเข้าสู่ยุคของ “Resilience” เพื่อนำ Spirit ในการทำงานของพนักงานกลับมาผ่านกิจกรรมสร้างความบันเทิงเหล่านี้กันเถิด
(อนึ่ง Streamer เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจับตามองเนื่องจากปัจจุบันสามารถสร้างรายได้รายชั่วโมงได้ตั้งแต่หลักร้อย จนถึงหลักล้านเลยทีเดียว ทั้งนี้ Streamer ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่เล่นเกมเก่ง หรือเป็นนักแข่งกีฬา eSport ระดับ Pro Player แต่คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถเข้ามาถึง Platform ที่สามารถหารายได้จากจุดนี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Twitch, Youtube หรือ Facebook – ทั้งนี้หากท่านผู้อ่านสนใจเรื่อง Streamer สามารถกดไลค์ กดแชร์กันได้นะครับ หากมีคนชอบเยอะ ทีมงานจะทำบทความเรื่องนี้เพิ่มเติมให้สมาชิกได้อ่านกันต่อเนื่อง)