บทความสัมภาษณ์พิเศษ คุณสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน)/ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)
บทความสัมภาษณ์พิเศษ คุณสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน)/ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)
“คุณสุนทร เด่นธรรม” ซีอีโอ ‘ฮิวแมนิก้า’
แกะกล่อง ‘Workplaze’ ซอฟแวร์ระดับโลก สายพันธุ์ไทย
ในงาน “Thailand HR Tech 2022”
นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน เราก็จะเข้าสู่งานมหกรรมสุดยอดเทคโนโลยี
Thailand HR Tech 2022 ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ์ เต็มพื้นที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในวันที่ 18-19 ตุลาคม 2565 นี้
“PMAT” ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษจาก
“คุณสุนทร เด่นธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) บริษัทยักษ์ใหญ่สายพันธุ์ไทย ที่ไม่ได้เก่งเฉพาะทำซอฟแวร์ แต่เป็นมืออาชีพทางด้าน Human Capital Management และเป็น Tech Company แถวหน้า ที่ผสมผสาน HRM กับ HRD เข้าด้วยกันอย่างลงตัว
คุณสุนทรได้เล่าให้ฟังถึงยุคสมัยของการทำงาน HR ในโลกใบใหม่ ที่คนกับเทคโนโลยีแยกกันไม่ออก และถือโอกาสนี้ใช้เวที Thailand HR Tech 2022 เปิดตัว “Workplaze” ซอฟแวร์ระดับโลก เป็นครั้งแรก โดยมีกำหนดใช้งานพร้อมกัน 12 ประเทศในเอเชีย
“Workplaze” ซอฟแวร์ฝีมือคนไทย
“เรื่องที่น่าตื่นเต้นของฮิวแมนิก้าคือ การเปิดตัว Workplaze ซึ่งเป็นซอฟแวร์ไทย ที่มีสถานะภาพเป็นซอฟแวร์ระดับโลก และเราได้รับการติดต่อจากการ์ทเนอร์ (Gartner, Inc) มาขอรีวิวโปรดักส์ใหม่ล่าสุดนี้”
คุณสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) เปิดใจ
“การ์ทเนอร์” เป็นบริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาระดับโลก ให้ข้อมูล คำแนะนำ และเครื่องมือสำหรับผู้นำด้านไอที การเงิน ทรัพยากรบุคคล การบริการลูกค้าและการสนับสนุน การสื่อสาร กฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกำหนด การตลาด การขาย และซัพพลายเชน การที่ Workplaze ได้รับความสนใจจากสถาบันระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของซอฟแวร์ในตลาดเอเชีย ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการใช้งาน ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อกฎหมายของท้องถิ่น
การถือกำเนิด Workplaze เป็นผลพวงมาจากการที่ฮิวแมนิก้า ควบรวมกิจการกับ บริษัท ดาต้าออน จำกัด ประเทศอินโดนีเซีย ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยฮิวแมนิก้าเข้าไปลงทุน 100% คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบริษัท ดาต้าออน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (HR Tech) อันดับ 1 ของประเทศ
“เป็นการเอาความรู้ที่เรามีจากซอฟแวร์ของฮิวแมนิก้า ที่ชื่อ Humatrix มารวมกับซอฟแวร์ของดาต้า ที่ชื่อ SunFish HR SaaS ผนึกกำลังกันเป็นซอฟแวร์ที่ดีที่สุดในเอเชีย ภายใต้ชื่อ Workplaze”
การรวมตัวกันดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันฮิวแมนิก้ามีเครือข่ายลูกค้าหลายประเทศในเอเชีย 5,000 บริษัท คิดเป็นจำนวนพนักงานกว่า 2 ล้านคนในระบบ เป็นการต่อยอดประสบการณ์เพื่อการพัฒนาซอฟแวร์ที่ดีที่สุดในการให้บริการ (software of the service)
“Workplaze เป็นทางเลือกสำหรับองค์กรขนาดกลางและใหญ่ของประเทศไทย ที่จะเลือกไปแทนที่ซอฟแวร์ต่างประเทศ ซึ่งยังมีข้อจำกัดสำหรับการใช้ในประเทศไทย เป็นซอฟแวร์ที่เข้ามาปิด gab ในเรื่องของ localization และความเป็น single source of truth คือระบบข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นจริง ระบบเดียว อยู่ในระบบเดียวกัน เอามาปิด gab การที่ต้องมีซอฟแวร์หลายๆ ตัวเชื่อมกัน เพราะ Workplaze ของเราตัวเดียวทำได้หมด เรียกว่าเป็น end to end”
‘ฮิวแมนิก้า’ ไม่ใช่ซอฟแวร์เฮาส์
ฮิวแมนิก้าก่อตั้งขึ้น จากการเห็นช่องว่างในตลาด HR Big 4 ระดับโลก ที่ไม่เน้นทำตลาดในเรื่องของ HR consulting, HR transformation และ HR Tech จากเดิมที่คุณสุนทรเคยเป็นลูกหม้อเก่าของ “ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์” (PWC) ก็เลยแยกตัวออกมาตั้งบริษัท ฮิวแมนิก้า โดยมองโอกาสทางธุรกิจในเรื่องของการทำ transaction เป็นการให้บริการเป็นรายการ ไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำเป็นชั่วใมงแบบงานที่ปรึกษา
“คำว่า transaction เช่น การทำ processing outsourcing แล้วคิดเป็นจำนวนรายการ ตามจำนวนพนักงาน
business model คือ เรามีรายได้จากค่าบริการ ที่เกิดจากการประมวลผล ที่มาของธุรกิจเริ่มจาก HRM ก่อน แล้วขยายมา HRD ภายหลัง โดย HRM เป็นเรื่องของ HR admin พวกคำนวณโอที ขาดลามาสาย เงินได้พิเศษ เงินหักพิเศษ การประมวลผลในเรื่องของภาษี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปจนถึงเงินเดือนที่ส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อนำจ่าย เข้าบัญชีพนักงาน
เราติดต่อกับสรรพากร ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในเรื่องที่เป็นการสะสมของพนักงาน รวมไปถึงหักเงินเดือนพนักงานเพื่อชำระหนี้สินต่างๆ ตามที่บริษัทระบุไว้ เช่น เงินกู้สวัสดิการกู้ซื้อบ้าน เรามาทางสาย professional service มาทำ HR Tech เพราะฉะนั้นเราเน้น Tech ตั้งแต่ตั้งบริษัท”
ขณะที่เนื้องานในฝั่ง HRD ฮิวแมนิก้ามีระบบ recruitment, performance management, learning management บริหารทั้ง e-learning กับ class room learning และหลักสูตรออนไลน์ โดยไปจับมือกับคู่ค้าที่มีความชำนาญเฉพาะทาง อย่าง AIS LearnDi หรือ AIS Academy ขายคอนเทนต์เพื่อการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กร หลากหลายหลักสูตร อย่างเช่น leadership เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าองค์กร ไม่ต้องไปคิดวางแผน ไม่ต้องไปหาซัพพลายเออร์หลาย 10 เจ้า เพื่อให้ได้คอนเทนต์ แต่ฮิวแมนิก้าออกแบบห้องสมุดคอนเทนต์ ให้ลูกค้าได้เลือกตามการใช้งาน
คุณสุนทรบอกว่า ฮิวแมนิก้าไม่ใช่ซอฟแวร์เฮาส์ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเขียนซอฟแวร์ แต่เป็น professional service ที่ใช้ซอฟแวร์มาช่วยในการให้บริการ เพราะฉะนั้นบริษัทจึงชำนาญในเรื่องของ business process เรื่องความต้องการของลูกค้า และเรื่อง pain point ของ HR แล้วถึงตั้งทีมวิศวกรกับนักพัฒนาซอฟแวร์ มาเขียนซอฟแวร์ให้ตอบโจทย์เหล่านั้น
“ซอฟแวร์ของเรามีความยืดหยุ่น มีความสามารถติดตั้งระบบ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่แต่ละประเทศ แต่ขององค์กรในแต่ละประเทศนั้นๆ”
ฮิวแมนิก้าเข้าตลาดหลักทรัพยฯ ในปี 2018 ปีถัดมา บริษัทก็เข้าเทคโอเวอร์ บริษัท ไทยเกอร์ซอฟท์ จำกัด เป็น SMEs HR software ของไทย ที่มีส่วนแบ่งตลาด SMEs ใหญ่ที่สุด ทิ้งช่วงไป 2 ปีถึงข้ามไปเทคโอเวอร์ บริษัท ดาต้าออน จำกัด ประเทศอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ดี แนวทางหลักของฮิวแมนิก้า ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาเทคโอเวอร์เพื่อสร้างการเติบโต แต่เน้นควบรวมกิจการเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่เป็นการผนึกกำลังกันเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ลูกค้าที่นับวันจะทวีความต้องการมากขึ้น
เขากล่าวว่า การเข้าไปซื้อกิจการไทยเกอร์ซอฟท์ เพราะเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งใน SMEs segment ขณะที่ฮิวแมนิก้าเอง จะแข็งแรงในเรื่องของ enterprise segment ในระดับองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ การได้ไทยเกอร์ซอฟท์มาอยู่ในเครือ ช่วยขยายศักยภาพของฮิวแมนิก้าในการเจาะตลาด SMEs มากขึ้น
ปัจจุบันฮิวแมนิก้าเป็น international company เป็น HR Tech company สายพันธุ์ไทยที่มีเครือข่ายในภูมิภาคเอเชีย มีสำนักงานในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีจุดแข็งในเรื่องของ localization กฎระเบียบท้องถิ่น เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
ความสำคัญของ outsource HR
คุณสุนทรกล่าวว่า ความสำคัญของ outsource HR หลังโควิดจะมีมากขึ้น เพราะผู้บริหารเริ่มตระหนักว่า HR ไม่ต้องทำในออฟฟิศก็ได้ ช่วงโควิด เข้าออฟฟิศไม่ได้ HR ก็ทำงานจากบ้านได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมี HR ไหม ที่ต้องมานั่งทำงานแอดมิน
ตอนนี้ HR มี 2 ทางเลือกคือ
- เวลาบริษัทใช้ outsource กลุ่มงาน HR อาจผันตัวเองมาอยู่กับบริษัท outsource เสียเลย กรณีนี้คือ HR ตามมาอยู่กับฮิวแมนิก้า และมาเติบโตไปด้วยกัน เพราะเป็นสายงานผู้เชี่ยวชาญทางด้าน pay roll ทางด้าน HRM ทางด้าน talent management ก็มาไต่เต้าเป็น director ไป
- คือเปลี่ยนบทบาทจากทำ admin ไปทำเรื่องของ talent management ใช้วิธี up ตัวเอง แต่ต้องเรียนรู้ใหม่ ต้อง reskill, upskill ตัวเองไปเรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นเรื่อง HR อยู่ดี เช่น ไปทำเรื่องการพัฒนาคนในองค์กร การสรรหา การวัดผลงาน ไปทำเรื่องของ salary structure compensation & benefit ไม่ใช่ทำงานคำนวณภาษี ไปทำเรื่องของโครงสร้างเงินเดือน เปรียบเทียบกับตลาด ไปตั้งกระบอกเงินเดือนให้อยู่ในระดับไหนของตลาด P50 P75 งานเหล่านี้มีความหมายมากกว่ามานั่งคำนวณภาษี นั่นก็คือ การเปลี่ยนบทบาทจากทำ admin ไปทำ strategic role และทำให้ HR ได้รู้สึกชื่นชมตัวเองว่าชีวิตก้าวหน้า
อย่างไรก็ดี องค์กรไทยยังนิยมใช้ outsource ในภาพรวมมีแค่ 10% ตลาด outsource ยังใหญ่มาก ส่วนใหญ่ติดเรื่อง mindset คิดว่า ทำเองดีกว่า เอาความลับไปให้คนอื่นทำ เดี๋ยวรู้เงินเดือน แต่ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ใช้ outsource เกือบหมดแล้ว และไม่ใช่แค่ยุโรป อเมริกา ถ้าไปดูฮ่องกง สิงคโปร์ ก็ไม่ทำเอง เลือกใช้ outsource หมด เพราะงานแอดมินเป็นภาระ และไม่ได้ช่วยให้องค์กรเติบโตอะไรเลย แต่ต้องทำ และต้องทำให้ถูกต้อง
“งาน outsource คือการตัดปัญหาปวดหัว ลองคิดดู ถ้าคนทำ pay roll ลาออก องค์กรปวดหัวมาก จะเอาใครมาทำ มันไม่ใช่งานเสมียน มันเป็นงานผู้เชี่ยวชาญ ต้องรู้กฎหมาย ต้องคำนวณเป็น ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องยื่นภาษี ต้องประสานงานกับแบงก์ยังไง ตรงนี้ซอฟแวร์ HR ช่วยได้ อัตโนมัติได้ self service ทำให้งานกระดาษมันลดลง แต่ต้องมีคนมาคอยจัดการ
บางคนไม่ได้มาขอซื้อซอฟแวร์เรา เขาบอกว่าอยากได้ outsource pay roll ก่อน
เราบอกว่า ถ้าเขาอยาก outsource เราจะ implement ระบบให้คุณใช้เลย พนักงานคุณจะได้ใช้ self service สามารถอัพเดทประวัติส่วนตัว สถานภาพโสด สมรส เปลี่ยนแปลงได้เลยในแอพของเรา ทุกอย่างอัพเดท คำนวณภาษีเดือนหน้า เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลที่อัพเดทปัจจุบัน ไม่ต้องเอาคนมานั่งส่งใบทะเบียนสมรสมา แล้วไปนั่งคีย์ในระบบ ไม่ต้องเลย พนักงานทำเอง ทำไมพนักงานต้องทำ เพื่อจะได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น จากคู่สมรส จากการที่มีบุตรเพิ่ม ถ้าไม่อัพเดทก็ไม่ได้ลดหย่อนตามกฎหมาย ภาษีก็เสียเกินความเป็นจริง เกินสิ่งที่ควรจะจ่าย
หรือเรื่องของการมาทำโอที หัวหน้าขอให้ลูกน้องมาทำโอที ทุกอย่างก็ถูกกำหนดในตารางการทำงาน เสร็จแล้วพอมาทำจริง เวลาเข้าออกเป็นไปตามที่ขอหรือเปล่า ถ้าตรงทุกอย่างก็ออโต้ เอาไปคำนวณโอที คำนวณโอทีก็ต้องไปดูว่า ในช่วงเวลานั้นตามกฎหมาย ได้ 1 เท่า 1.5 เท่า หรือ 3 เท่า เป็นเรื่องกฎหมายทั้งนั้น แล้วถ้าคนไม่เคยทำ จะทำได้อย่างไร พอ HR ที่ทำ pay roll ลาออก องค์กรก็ปวดหัวแล้วว่า เอาไงดี ความลับทั้งนั้น เพราะส่วนใหญ่เรื่อง pay roll จะรู้อยู่คนเดียว หรือเฉพาะทีมที่รู้ พอองค์กรปวดหัวมากๆ เข้า ก็จะนึกถึงการ outsource มากขึ้นๆ”
ทุกวันนี้ฮิวแมนิก้าให้บริการงานหลังบ้าน และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น ไมเนอร์กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นบริษัทไทยที่เลือกจะใช้ outsource ทั้งหมด จากจำนวนพนักงานหลายหมื่นคน ห้างเทสโก้โลตัสก็ใช้ซอฟแวร์ฮิวแมนิก้ารันระบบปฏิบัติการ HR ทั้งในไทยและมาเลเซีย โดยเปลี่ยนผ่านจากซอฟแวร์ People Soft ที่บริษัทแม่ใช้ที่อังกฤษ มาเป็น Humatrix ช่วงที่เทสโก้ขายกิจการห้างโลตัสให้ซีพี แต่ในซีพีทั้งเครือยังใช้ People Soft เป็นซอฟแวร์หลัก ฮิวแมนิก้าได้ลูกค้าเฉพาะห้างโลตัส และบางส่วนจากห้างแมคโคร ที่หันมาใช้บริการโมดูล performance management ของบริษัท
ความแตกต่างของธุรกิจ professional service อย่างฮิวแมนิก้า เมื่อเทียบกับบางกิจการคือ สามารถให้บริการคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ โดยไม่ใช้ทีมเดียวกันให้บริการ และให้พนักงานเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยความลับ
การสร้างความเชื่อมั่นและเก็บรักษาความลับ ถือเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับธุรกิจ HR Tech ทุกวันนี้ฮิวแมนิก้ามีลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เอสแอนด์พี เอ็มเค ไมเนอร์กรุ๊ป ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจโรงพยาบาล
“เราลงทุนไปมากเรื่องความปลอดภัย การแฮกเข้ามาในระบบเราแทบเป็นไปไม่ได้ เราดูแลทุกอย่างให้ได้มาตรฐานทั้งความปลอดภัย กันระบบล่ม และการแทรกแซงข้อมูลจากภายนอก พวกนี้เป็นเรื่องที่เราลงทุนสูงมาก”
HR Tech หลังโควิด
เขาบอกว่า ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีกับคนทำงานแยกกันไม่ออก สำหรับฮิวแมนิก้าแล้ว ถือว่าเป็น
good timing ที่มาพร้อมกับความตื่นตัวของ digital transformation ความตื่นตัวของการให้ความสำคัญกับการดูแลคน
“timing มันมากับช่วงที่ขาดแคลนบุคลากรทางด้าน HR เพราะฉะนั้นองค์กรที่ไม่มี HR เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ outsource ให้เราทำแทนเลยก็ได้ ที่เรียกว่า Human Capital Management as a service เป็นทางเลือกที่ช่วยบรรเทาปัญหาขององค์กร เราเป็นมืออาชีพทางด้าน Human Capital Management และเราเป็น Tech Company เพราะฉะนั้นเราจึงมีจุดแข็ง 2 อย่างในที่เดียวกัน เราช่วยลูกค้าได้เลยถ้าขาดคนขึ้นมา และเรื่องสำคัญๆ ที่องค์กรต้องการ
เป็นสิ่งที่เรามองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ HR Tech และ HR outsourcing จะได้รับความสนใจจากองค์กร เพราะว่ามันผ่านโควิดมา 2 ปี องค์กรผ่านมาได้อย่างไร ก็ต้องคิดแล้วว่า ในเมื่อพนักงานเข้าออฟฟิศไม่ได้ แล้วมันอยู่รอดมาได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มคิดแล้วว่า คิดแบบเก่าๆ มันไม่ถูก ไม่จำเป็นจะต้องทำแบบเดิมๆ”
การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับงาน HR คุณสุนทรกล่าวว่า โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น กลุ่มที่เป็นซอฟแวร์เล็กๆ ทำ pay roll เป็นหลัก ตอบโจทย์การคิดภาษี หักเงินเดือน เมื่อไปอีกระดับหนึ่งเป็นเรื่องของ global ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบโจทย์เรื่องของ talent management, HRD แต่ว่าจะไม่มี HRM หรือว่ามี HRM แบบทื่อๆ ไม่ flexible ลักษณะแบบที่เป็นเหมือนฮิวแมนิก้า
HR ซอฟแวร์ในแต่ละประเทศทั่วโลก 90% จะเป็น pay roll แต่คนที่เป็น global HR Tech จะทำแต่ talent management เพราะมันคล้ายๆ กัน เช่นทำ performance management เพราะมี best practice คล้ายๆ กัน กระบวนการทำงานคล้ายๆ กัน ไม่ค่อยมีเรื่องของ local มาเกี่ยว ไม่มีกฎหมายประเทศไหนมาบอกว่า ถ้าคุณจะวัดผลงาน คุณต้องทำอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ทำๆ ตามๆ กันไป เป็น best practice ดังนั้น พวกที่เป็น global จะสนใจและพัฒนาไปแต่ด้าน HRD แล้วถ้าต้องเอาไปใช้แต่ละประเทศ ก็ต้องหา local product เอามาเชื่อมต่อกัน
ขณะเดียวกันธีมของการทำงานยุคใหม่ จะมีลักษณะเป็น
work-life platform มากขึ้น โดยในแง่ของ
work จะไม่ได้มองว่าทำซอฟแวร์ที่ช่วยให้พนักงานทำงานดีขึ้น แต่เป็นการออกแบบ platform ที่ทำให้องค์กรมี digital transformation และเป็นระบบที่ช่วยให้พนักงานทุกคนทำงานดีขึ้น ไม่ใช่แค่แผนก HR แต่เป็นทุกๆ คนในองค์กรจะทำงานดีขึ้น เพราะมี productivity มี empowerment ให้พนักงาน
ส่วน
life มองไปที่บริษัทจะดึงดูดเก็บรักษาพนักงานที่ดีไว้กับองค์กรได้ จะต้องดูแลเขาอย่างดี ให้เขารู้สึกดีกับองค์กร มี engagement มี experience ที่ดีกับองค์กร เพราะฉะนั้น นอกจากเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์อื่นๆ สำคัญแล้ว เรื่องของ flexi benefit ก็มีความสำคัญ เพราะแต่ละองค์กรมี 3-4 เจเนอเรชั่นอยู่ด้วยกัน มีความต้องการต่างกัน บริษัทต้องสร้างแรงดึงดูดใจจากสวัสดิการเลือกได้ ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์และแต่ละช่วงของชีวิต ตามวงเงินของบริษัท
มีเส้นแบ่งอยู่หลายเส้นระหว่างงาน HRM กับ HRD บางเนื้องานเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ก็สำคัญ สิ่งที่ฮิวแมนิก้าลงมือทำคือ สร้าง platform ให้กับทุกเนื้องาน HR ทั้งที่ไม่สำคัญและสำคัญ เดินไปด้วยกันได้ โดยที่องค์กรไม่สะดุดขาตัวเองล้ม
/////////////////////////////////