ความเป็นมาของมาตรฐานวิชาชีพนักบริหารงานบุคคล

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ TPQI ได้ร่วมมือกัน ในการดำเนิน โครงการจัดทํามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพบริหารงานบุคคล ขึ้นใน ปี 2557 เพื่อดำเนินการศึกษาการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ (Competency – Based Assessment) ที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักการประเมินสมรรถนะวิชาชีพที่ดี อันประกอบด้วย ความเป็นธรรม ความเที่ยงตรง การมีความเชื่อมั่น และมีความสามารถที่จะปฏิบัติได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เกณฑ์การประเมินที่เที่ยงตรง และเชื่อมั่นได้ กระบวนการในการศึกษาเพื่อจัดทํามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพการบริหารงานบุคคล จึงใช้ระเบียบวิธีในการศึกษาที่สำคัญประกอบด้วย

การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เพื่อศึกษาการกำหนดมาตรฐานอาชีพและการประเมินสมรรถนะวิชาชีพของประเททศที่เป็นตัวอย่างที่ดีประกอบด้วย SHRM ของอเมริกา CCHRA ของแคนาดา และ SHRI ของสิงคโปร์

การสนทนากลุ่ม (Focus group) โดยระดมสมองจากนักวิชาการ ผู้ประกอบอาชีพ ในสาขาการบริหารงานบุคคลในการกำหนดสมรรถนะหลักของวิชาชีพการบริหารงานบุคคลผ่านการทำ Workshop ถึง3 ครั้ง และจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง

การวิจัยเชิงปริมาณ ในการส่งแบบสอบถามไปยังผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล ถึงความคาดหวังต่อสมรรถนะวิชาชีพของนักบริหารงานบุคคลมีประเด็นหลักในการสำรวจคือ นักบริหารทรัพยากรบุคคลที่สามารถตอบสนองการดำเนินธุรกิจขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตควรมีสมรรถนะ ในด้าน Functional/Technical Competency และด้าน Generic / Managerial Competency ใดบ้าง และแต่ละสมรรถนะมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การสัมภาษณ์เชิงลึก (Deep-Interview) ผู้บริหารองค์การชั้นนำของประเทศระดับ C-Level ขององค์การชั้นนำของประเทศไทย จำนวน 7 องค์การ ใน 2 ประเด็น คือ มุมมองต่อฝ่ายงานทรัพยากรบุคคลของในองค์การปัจจุบัน และความคาดหวังต่องานทางด้านงานทรัพยากรบุคคลในอนาคต รวมถึง บทบาทของนักทรัพยากรบุคคลมืออาชีพในอนาคตที่ผู้บริหารองค์การคาดหวัง

จากการศึกษาทำให้สามารถสรุปตัวแบบมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพบริหารงานบุคคล (HR Occupational Standard Model) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สมรรถนะทางวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Expertise) และสมรรถนะทั่วไป (HR Professional Practices) ประกอบด้วยสมรรถนะ จำนวน 17 รายการ ดังนี้

 

สมรรถนะทางวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล(HR Expertise) แบ่งเป็น 8 หน่วยสมรรถนะ ประกอบด้วย

1) การวางแผนกลยุทธการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Concept & Strategy)

2) การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร (Attraction & Selection)

3) การบริหารค่าตอบแทน (Remuneration Management)

4) การพนักงานสัมพันธ์ (Employee Relations)

5) การเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Learning & Development)

6) การวางแผนอัตรากำลัง (Workforce Planning)

7) การบริหารผลงาน (Performance Management)

8) การบริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Management)

9) การพัฒนาองค์การ (Organization Development)

 

สมรรถนะทั่วไป (HR Professional Practices) แบ่งเป็น 8 หน่วยสมรรถนะ ประกอบด้วย

1) จรรยาบรรณวิชาชีพ (Ethical Practice)

2) การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติ (Analytical Thinking & Innovation)

3) ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล (ICT & Digital Skill)

4) การเรียนรู้และพัฒนาผู้อื่น (Developing Self & People)

5) ทักษะการสื่อสาร และการเลือกใช้สื่อ (Communication & Media Literacy)

6) การให้ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Team & Leadership)

7) การบริหารการเปลี่ยนแปลง และเป็นคู่คิดเชิงธุรกิจ (Change Management & Partnering)

8) การบริหารความหลากหลาย (Diversity Management)