วิชาชีพการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้องค์กรปฏิบัติภารกิจบรรลุเป้าหมาย ทั้งในฐานะที่ปรึกษาภายในที่ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหาร ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร ช่วยพัฒนาประสิทธิผลองค์กร ทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบ และกระบวนการทำงาน ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างความพร้อมในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กร อำนวยความสะดวก และส่งมอบงานบริการอื่นๆที่มีคุณค่า และมีประสิทธิภาพให้กับองค์กร ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรในระยะยาว ซึ่งการที่จะเป็นนักบริหารทรัพยากรบุคคลมืออาชีพได้นั้น นอกจากความรู้ความสามารถทางวิชาชีพแล้ว จะต้องมีสมรรถนะอื่นๆ รวมถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรได้
การพัฒนามาตรฐานอาชีพและระบบคุณวุฒิวิชาชีพนักบริหารทรัพยากรบุคคล ที่ตอบสนองความต้องการขององค์กรต่างๆ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และการพัฒนาเครื่องมือทดสอบมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพนี้ รวมถึงการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Accreditation) ของนักบริหารทรัพยากรบุคคล จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้บริหารองค์การ ที่จะประเมินสมรรถนะบุคลากรเพื่อการจ้างงาน เป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน สร้างความยอมรับในวิชาชีพ และบุคลากรในสายอาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลว่าจะมีสมรรถนะเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจสำคัญ ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและพัฒนานักบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งในปัจจุบันและรุ่นใหม่ ให้มีความเป็นมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อเติบโตก้าวหน้าในอาชีพของตน ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร หน่วยงานต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในที่สุด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ในฐานะสถาบันวิชาชีพการบริหารทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย ที่จะพัฒนาวิชาชีพการบริหารทรัพยากรบุคคลของประเทศ และยกระดับให้มีมาตรฐานในระดับสากล สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย
วัตถุประสงค์
1) เพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพการบริหารงานบุคคลที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีความเป็นสากล และเหมาะสมกับประเทศไทยเป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
2) เพื่อสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในวิชาชีพ ในการจัดทำ พัฒนา และเผยแพร่มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพและรองรับการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้นในอนาคต
3) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ระบบมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเป็นที่รับรู้และยอมรับในทุกภาคส่วน
4) เพื่อให้การรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนักบริหารงานบุคคล